สสจ.ปทุมฯ แจง กรณีแม่ท้องแก่ ตระเวนหาเตียงให้ลูกติดโควิด
สสจ.ปทุมธานี ออกโรงชี้แจง หลังจากที่มีเพจดังไลฟ์สด กรณีแม่ท้องแก่ ตระเวนหาเตียงให้ลูกติดโควิด เผยมีผู้วิกฤติ 4 รายเลยให้ เด็กรอก่อน
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้ออกมาชี้แจงหลังจากที่มีเพจ Survive – สายไหมต้องรอด ได้ออกมาไลฟ์สดเปิดเผยว่า หญิงต้องแก่ตั้งครรภ์ 8 เดือน ตระเวนตามหาโรงพยาบาลเพื่อรักษาลูกชายวัย 8 ขวบที่ติดโควิด หลังจากที่มีการกล่าวอ้างว่า ไม่มีที่ไหนรับรักษา รพ.ตามสิทธิก็ปฏิเสธไม่รับผู้ป่วย
โดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ชี้แจงว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 26 ก.พ.65 เวลาประมาณ 21:30 น. พ่อและแม่ได้พาลูกอายุ 8 ขวบ มาด้วยอาการไข้และตรวจพบว่าผล ATK เป็นบวก ที่โรงพยาบาลเอกชน ในกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลแห่งนั้นได้แจ้งให้กลับมารักษาตามสิทธิ ซึ่งจากการตรวจสอบสิทธิแล้วพบว่าขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิที่รักษ์สุขคลินิกเวชกรรม สาขาคลอง 6 มีหน่วยบริการรับส่งต่อ คือ รพ.คลองหลวง
จากการตรวจสอบข้อมูลไปยัง รพ.คลองหลวง ได้รายงานเหตุการณ์โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ในวันเสาร์ที่ 26 ก.พ.65 เวลาประมาณ 20.00 น. รพ.คลองหลวง กำลังให้บริการผู้ป่วยสีแดงอยู่ 4 คน ดังนี้
1. ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด จำนวน 2 คน (เตรียมแอดมิตผู้ป่วยใน)
2. ผู้ป่วยเลือดออกในทางเดินอาหารมีภาวะช๊อก (shock) 1 คน (เตรียมส่งต่อโรงพยาบาลปทุมธานี)
3. ผู้ป่วยบาดเจ็บรุนแรงทางศีรษะ (ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ) 1 คน (เตรียมส่งต่อโรงพยาบาลปทุมธานี)
(ซึ่งเป็นผู้ประสบเหตุจากการจลาจลในพื้นที่ ที่มีผู้บาดเจ็บ 3 คน)
เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. พ่อและแม่พาเด็กผู้ป่วย มาอยู่ที่บริเวณหน้าห้องฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่พยาบาลได้ออกมารับทราบและประเมินอาการของน้องเบื้องต้นพบว่า น้องเป็นผู้ป่วยโรคโควิด มีอาการไข้ ยังไม่ซึมและไม่มีภาวะหายใจเหนื่อยหอบ พยาบาลได้รับทราบอาการและข้อมูลจากมารดาว่าผู้ป่วยได้รับยามาแล้วจึงจัดให้เป็นคนไข้ประเภทสีเหลือง และแนะนำให้นั่งพักรอการตรวจอยู่บริเวณด้านหน้าจุดพักคอย ตรงเสาธงหน้าห้องฉุกเฉิน จุดที่ให้ผู้ป่วยโควิดพักคอย
โดยได้แจ้งว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยหนักสีแดงอยู่ 4 คน จำเป็นต้องให้การรักษาก่อน และได้แจ้งคุณพ่อน้องว่าต้องรอเวลาในการตรวจรักษานานพอสมควร โดยปกติคนไข้สีเหลือง โรงพยาบาลจะทำการประเมินช้ำทุก 30 นาที แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางโรงพยาบาลไม่สามารถประเมินซ้ำได้ตามแนวทาง เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่พยาบาลปฏิบัติหน้าที่เพียง 4 ท่าน และต้องดูผู้ป่วยวิกฤตพร้อมกัน 4 คน
ในกรณีนี้ทางโรงพยาบาลรับทราบว่าเป็นประเด็นความเสี่ยงและโอกาสพัฒนาของโรงพยาบาลในการที่จะปรับปรุงพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยระหว่างเวลานั้น ผอ.โรงพยาบาลทราบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมากที่ห้องฉุกเฉินจึงได้สั่งการให้พยาบาลอีก 1 ท่าน ที่พักอยู่ในบ้านพักของ รพ.ขึ้นมาช่วยเสริมที่ห้องฉุกเฉินรวมเป็น 5 ท่าน
เมื่อเวลาประมาณ 22.50 น. หลังจากที่ส่งผู้ป่วยวิกฤตบางส่วนไปตามแผนการรักษาแล้ว พยาบาลได้มาติดตามผู้ป่วยเด็กเพื่อนำเข้าไปรับการรักษา และพบว่าขณะนั้นมีทีมกู้ชีพทีมหนึ่งเข้ามาให้การวัดไข้และเตรียมนำผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาล เพื่อกลับเข้าไปรักษา รพ.ในกรุงเทพ เจ้าหน้าที่พยาบาลได้แจ้งทีมกู้ชีพและมารดาว่า ขณะนี้โรงพยาบาลพร้อมนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้วแต่ทางทีมกู้ชีพและมารดาได้ปฏิเสธและนำผู้ป่วยออกจากพื้นที่ไป
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอชี้แจงว่าโรงพยาบาลไม่ได้ปฏิเสธการรักษาแต่อย่างใด แต่มีการจำแนกผู้ป่วยตามระดับความรุนแรงเร่งด่วน กรณีที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสพัฒนาในการดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง ในกรณีที่มีผู้ป่วยวิกฤติจำนวนมากโดยไม่ได้คาดหมาย อีกทั้งโรงพยาบาลพร้อมจะดูแลผู้ป่วยร่วมกับเครือข่ายด้านสุขภาพต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่รวดเร็วมีคุณภาพ โดยไม่ต้องเสียเวลาส่งผู้ป่วยกลับไปกลับมา ให้เกิดความล่าช้าในการดูแลรักษา