มีคำตอบ ‘โควิด เจอ แจก จบ’ เริ่ม 1 มี.ค. ติดแล้วทำอย่างไรบ้าง
เริ่มกันไปแล้วอย่างเป็นทางการกับ “โควิด เจอ แจก จบ” แผนการจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการเปลี่ยนการจัดการโรคโควิด-19 จากโรคระบาดใหญ่ ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น ลดความรุนแรงลง โดยได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ดังนั้น The Thaiger จึงจะพาทุกท่านมาเข้าใจกับโครงการ และแนวทางในการรักษาหากติดโควิดด้วยยาทั้ง 3 สูตรกัน
เจอ แจก จบ เปลี่ยนวิกฤติจากโรคระบาดใหญ่ ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น
โควิด เจอ แจก จบ คืออะไร ? ใครบ้างที่ได้รับบริการนี้ ?
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินระยะเวลามาอย่ายาวนานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 จนถึงในปัจจุบัน อันส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทยอย่างมาก อีกทั้งจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ที่ขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่แสดงอาการบ้าง หรืออาการไม่รุนแรงบ้าง ทำให้เกิดโครงการเจอ แจก จบ ที่เริ่มใช้กันในวันที่ 1 มีนาคม 2565 นี้
โครงการนี้เกิดจากการที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องการให้มีการจัดการโรคโควิด-19 เปลี่ยนจากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ลดความรุนแรงลง เนื่องจากตอนนี้นั้นประเทศไทยมีระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนมีภูมิต้านทานที่เพียงพอ ทำให้อาการของโรคดังกล่าวไม่ได้มีภาวะอันตรายอีกต่อไป
โครงการนี้ จึงจะช่วยในการจัดระบบบริการแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่สงสัยหรือมีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อภายหลังใช้ชุดตรวจ ATK แล้วพบว่ามีผลตรวจเป็นบวกจะนับเป็นผู้ป่วยในทันที โดยการรักษานั้นจะเป็นการแจกยาให้ผู้ป่วย 3 สูตรดังนี้
- ยารักษาไวรัสโดยตรง คือ ฟาวิพิราเวียร์
- ฟ้าทะลายโจร
- ยารักษาตามอาการ เช่น วิตามินซี ยาลดไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ
โดยการให้ยานั้น จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์ที่จะพิจารณา ว่าจะให้ยาแบบใด ซึ่งต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ป่วยก่อน โดยการรักษานี้นั้น จะทำกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถเข้ารับการรักษาในลักษณะเป็นผู้ป่วยนอก แปลว่าไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ดูแลรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) ได้นั่นเอง
ติดโควิด อาการแบบไหน ใช้ยาอะไร ?
- ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ให้รับรักษาแบบผู้ป่วยนอก แยกกักตัวที่บ้าน และจะไม่ให้ใช้ยาต้านไวรัส อย่างยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะผู้ป่วยประเภทนี้ส่วนมากหายเองได้ อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจของแพทย์ และจะไม่ให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัส เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยา
- ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด แต่หากพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
- ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อย ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน ให้ใช้ยาต้านไวรัสเพียงหนึ่งชนิด โดยพิจารณาจากโรคประจำตัว ข้อห้ามการใช้ยาปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านไวรัสกับยาเดิมของผู้ป่วย การบริหารเตียงความสะดวกของการให้ยาและปริมาณยาสำรองที่มี
นอกจากนี้โครงการสู้ โควิด เจอ แจก จบ ยังเป็นการเชื่อมโยงไปสู่โรคที่สามารถดูแลได้ด้วยตนเอง และมารับบริการผู้ป่วยนอกได้ โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคม โดยในบางจังหวัด ได้มีการดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วแล้ว รวมถึงโรงพยาบาลศิริราช โดยผู้ติดเชื้อไม่ต้องนอนโรงพยาบาลแต่ได้รับการดูแลให้การรักษาที่บ้านซึ่งอาจไม่ต้องกักตัวตลอดเวลา แต่จะต้องดูแลตนเอง สังเกตอาการ ไม่พบคนหมู่มาก และพยายามอยู่ในห้อง ลดการเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับแผนการใหม่ คาดการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังอยู่ในช่วงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะขึ้นสูงสุดในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ แล้วจะเริ่มลดลง แต่ถ้ากรณีปานกลางไปถึงเลวร้าย หรือ Worst Case ยอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกลางเดือนเมษายน ถึงหลังสงกรานต์ ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบ – อาการหนักจะเพิ่มขึ้น แต่ยังรับมือได้ ส่วนผู้เสียชีวิตรายวันจะไม่เกิน 50 คน
เรื่อง : สิทธิโชติ ลังกากาศ
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล
- ‘ประยุทธ์’ ย้ำ ร้านอาหาร ปฏิบัติตาม มาตรการโควิด
- โควิดไทยวันนี้ 1 มี.ค. 65 ติดเชื้อเพิ่ม 20,420 ราย ดับ 43 ศพ
- สายด่วนโควิด กรุงเทพ ทั้ง 50 เขต มีเบอร์อะไรบ้าง? เช็คเลย
- สธ. หวั่น ยอดป่วยโควิดหลังสงกรานต์ อาจแตะแสน หากไม่ป้องกัน
? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger
? Google Play Store
? App Store