‘พิธา’ ฉะ ‘ประยุทธ์’ ควรโชว์จุดยืนต้านการรุกราน ‘ยูเครน’
พิธา โพสต์ข้อความ กดดันรัฐบาลไทย ให้ยึดหลักสากลโชว์จุดยืนต้านการรุกราน ‘ยูเครน’ ซัดอย่าทำตัวเป็นนกสองหัวที่ไม่มีจุดยืน
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อท่าทีการรุกรานประเทศยูเครนของกองทัพรัสเซีย พร้อมชี้ว่าประยุทธ์ควรแสดงจุดยืนโดยการยึดหลักสากล ด้วยการต่อต้านสงคราม
โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “การรุกรานยูเครนถือเป็นการล่วงละเมิดบรรทัดฐานที่เป็นรากฐานที่สุดของกฎหมายระหว่างประเทศคือ หลักบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของประเทศ ถึงแม้สงครามในยูเครนจะห่างออกไปมากกว่า 7 พันกิโลเมตร แต่หากประเทศขนาดเล็กต่างๆ ไม่ได้ร่วมค้ำยันระบบระหว่างประเทศที่อิงตามกฎกติกา (Rule-based international order) และปล่อยให้กติการะหว่างประเทศพังทลายลงไปต่อหน้าต่อตาจากการรุกรานในครั้งนี้ ก็หมายความว่าเราจะทิ้งโลกที่ “ความชอบธรรมคืออำนาจ” (Right makes might) เอาไว้เบื้องหลัง และยอมอยู่ในโลกที่ “กำลังอำนาจคือความชอบธรรม” (Might makes right) ในโลกเช่นนี้ประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กจะไม่มีหลักประกันความมั่นคงเหลืออยู่เลย
ผมเข้าใจดีที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่า “การไม่เลือกข้างเป็นเรื่องที่ดีที่สุด” ผมเห็นด้วยครับว่าเราไม่ควรที่จะเลือกเข้าข้างมหาอำนาจฝ่ายไหนหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่การไม่เลือกข้างไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรแสดงท่าทีหรือไม่ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งใด ๆ ในโลกนี้ สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือการดำเนินนโยบายต่างประเทศไทยที่ยึดหลักความถูกต้องชอบธรรมตามหลักกฎหมายและกติกาสากลระหว่างประเทศ การไม่เลือกข้างควรจะมีพื้นฐานมาจากการยืนอยู่บนหลักการที่อาจจะไม่ได้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย แต่เป็นความถูกต้องที่มีพื้นฐานมาจากผลประโยชน์แห่งชาติและหลักการสากลอันจะสร้างความชอบธรรมให้กับการต่างประเทศไทย และผมเชื่อว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ไทยจะมีจุดยืนต่อต้านสงคราม และประณามผู้ก่อสงคราม อันเป็นอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติและสันติภาพของโลก
ประเทศไทยในฐานะประเทศขนาดกลางที่มีแสนยานุภาพในการป้องกันประเทศด้วยกองทัพเพียงอย่างเดียวได้อย่างจำกัด มีแนวทางที่ดีที่สุดในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงของมาตุภูมิ ไม่ใช่การทำตัวเป็นนกสองหัวที่ไม่มีจุดยืนใด ๆ หรือทำตัวเป็นไม่สนใจต่อความเป็นไปในที่อื่น ๆ บนโลก แต่แนวทางที่ดีที่สุด คือการยึดถือและยืนยันถึงความละเมิดมิได้ของกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นกติกาสากลเหล่านี้ เพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันให้ประเทศชาติของเราในฐานะประเทศขนาดกลางและขนาดเล็ก
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ รัสเซียในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ใช้สิทธิยับยั้งร่างข้อมติฯ ที่มีมากกว่า 80 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติร่วมสนับสนุน และ 11 ประเทศจาก 15 ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติสนับสนุน โดยร่างข้อมติฯ มีเนื้อหาในการประณามรัสเซียว่าละเมิดกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัสเซียยุติการใช้กำลังทหาร ถอนทหารออกจากยูเครนในทันที และยกเลิกมาตรการทั้งหมดที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยของยูเครน ตลอดจนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดถือข้อตกลง Minsk Agreements และแสวงหาข้อตกลงผ่านกระบวนการ Normandy Format (ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย) และ Trilateral Contact Group (รัสเซีย ยูเครน และกลุ่ม OSCE) ร่างข้อมติฯ นี้ ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอำนวยความสะดวกในการนำความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าไปในยูเครนโดยปราศจากการกีดกัน
โดยร่างข้อมติฯ ถูกยับยั้งไปในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ร่างข้อมตินี้ได้ถูกส่งมาอภิปรายและลงมติในการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งที่ผ่านมา มีการเรียกประชุมในรูปแบบดังกล่าวเพียง 10 ครั้ง อันแสดงให้เห็นความเร่งด่วนและรุนแรงของสถานการณ์ต่อความมั่นคงและสันติภาพระหว่างประเทศ
ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศรวมถึงไทยอาจต้องลงมติต่อร่างข้อมติดังกล่าวคืนนี้ตามเวลาในประเทศไทย ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมและยืนหยัดตั้งมั่นในหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกติกาสากลที่ค้ำยันระบบระหว่างประเทศเอาไว้ด้วยการร่วมเห็นชอบในร่างข้อมติดังกล่าว และแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่ยึดมั่นศรัทธาในหลักยุติธรรมระหว่างประเทศ ความเท่าเทียมกันในอำนาจอธิปไตย (sovereign equality) และหลักพหุภาคีนิยม ไม่ได้ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนแม้ต่อประเด็นที่คุกคามสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ”
- วินาทีประวัติศาสตร์! ‘ยูเครน’ ลงนาม ยื่นขอเข้าเป็นสมาชิก EU
- ยูเครน เผย สังหารทหารรัสเซียได้แล้วกว่า 5 พันนาย
- ‘ประยุทธ์’ เรียกประชุมด่วน หารือผลกระทบ ‘รัสเซีย’ บุก ‘ยูเครน’