ชวนรู้จัก ‘วันนักข่าว’ อีกหนึ่งในวันสำคัญของชาวไทย พร้อมเปิดประวัติความเป็นมาของวันสำคัญของนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ไทย มีอะไรน่าสนใจบ้าง
เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้จักกันแน่ ๆ ว่า วันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ถือเป็น วันนักข่าว หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นมาเพื่อให้นักข่าวได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งต่อข่าวสาร ในวันนี้ The Thaiger จะมารวบรวมข้อมูลที่น่ารู้ เกี่ยวกับวันสำคัญประจำเดือนมีนาคม ให้ทุกคนได้ทราบ จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยค่ะ
ประวัติ วันนักข่าว 5 มีนาคม วันสำคัญของเหยี่ยวข่าวแห่งประเทศไทย
วันนักข่าว หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี ก่อตั้งโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2498 และนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมัยนั้นคือ นายโชติ มณีน้อย นักข่าวรุ่นบุกเบิก ก่อตั้งลงนามร่วมกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รวม 16 ฉบับ ได่แก่
- หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์
- หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์
- หนังสือพิมพ์ข่าวสยาม
- หนังสือพิมพ์ซินเสียง
- หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
- หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว
- หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
- หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย
- หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
- หนังสือพิมพ์หลักเมือง
- หนังสือพิมพ์ศิรินนคร
- หนังสือพิมพ์สยามนิกร
- หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
- หนังสือพิมพ์สากล
- หนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์
- หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
โดยก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2498 ซึ่งหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ต่างให้ความสำคัญกับวันนักข่าวเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นประเพณีที่ทราบกันระหว่างหนังสือพิมพ์กับผู้อ่านว่า วันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดประจำปีของบรรดานักหนังสือพิมพ์
ความสำคัญของวันนักข่าว
วันนักข่าว มีความสำคัญเพื่อให้สมาชิก และเหยี่ยวข่าวทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ รายการทีวี สื่อออนไลน์ และสื่ออื่น ๆ ทุกช่องทาง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งต่อข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนข่าวอย่างมีจรรยาบรรณ เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เพื่อกระตุ้นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย ตั้งใจผลิตผลงานสู่ประชาชน ในวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี จึงมีการมอบรางวัลนักข่าวดีเด่น ภาพข่าวดีเด่น และข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ ที่จุดประกายต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักข่าวรุ่นต่อ ๆ ไปให้เห็นความสำคัญของการเขียนข่าวที่ถูกต้องตรงประเด็น
สวัสดิการนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ของประเทศไทย
นอกจากจะมีการมอบรางวัลนักข่าวดีเด่นแล้ว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ยังมีบทบาทดูแล และจัดสรรสวัสดิการให้แก่สมาชิกในปี 2565 มีรายชื่อสมาชิก 2,320 คน แบ่งออกเป็นสมาชิกวิสามัญ, สมาชิกหนังสือพิมพ์, สมาชิกสื่อออนไลน์, สมาชิกนิตยสาร, สมาชิกวิทยุ โดยสมาชิกสมาคมฯ ยังได้รับสิทธิ์สวัสดิการอีก 5 อย่าง ได้แก่
- สวัสดิการคลอดบุตรคนแรก รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท
- สวัสดิการทุนการศึกษาแก่บุตรธิดาสมาชิก ครอบครัวละ 1 หุ้น
- สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ผู้ป่วยนอกครั้งละไม่เกิน 500 บาท/ครั้ง ไม่เกิน 6 ครั้งต่อปี ผู้ป่วยในไม่เกินครั้งละ 3,000 บาท/ครั้ง ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี
- สวัสดิการมรณกรรม พวงหรีดเคารพศพและเงินสวัสดิการ 5,000 บาท
- สวัสดิการสำหรับสมาชิกอาวุโส อายุ 60 ปีขึ้นไป ยกเว้นการเก็บค่าบำรุงประจำปี และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ผู้ป่วยนอกครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท/ครั้ง ไม่เกิน 12 ครั้งต่อปี ผู้ป่วยในครั้งละ 5,000 บาท/ครั้ง ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี
กิจกรรมวันที่ 5 มีนาคม 2566 วันนักข่าว
สำหรับวันนักข่าวประจำปี 2566 นี้ นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประกาศจัดงาน TJA Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 68 ปี ในวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ ห้องบอลรูม โรงแรมเดอะแลนด์มาร์ค
ภายในงานจะมีการเสวนาหัวข้อ “พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนฎ โดย คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ในงานจะมีการประกาศผลและมอบรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม เพื่อรำลึกถึงนายอิศรา อมันตกุล นักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับและอดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก และการมอบรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ของชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
อ้างอิง : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย Thai Journalists Association