เชื่อว่าหลาย ๆ คน จะต้องเคยสังเกตเห็นถังดับเพลิงสีต่าง ๆ ตามอาคารทั้งหลายกันมาบ้าง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ วิธีการใช้ถังดับเพลิง อย่างถูกต้อง วันนี้ The Thaiger ก็เลยรวบรวมเอาทริคดี ๆ เกี่ยวกับถังดับเพลิงมาให้ทุกคนได้เรียนรู้กัน เชื่อเถอะว่า รู้ไว้แล้วไม่ได้ใช้ ยังดีกว่าเกิดเหตุร้ายแต่ใช้ไม่เป็นนะ ส่วนขั้นตอนจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ไปเรียนรู้พร้อมกันได้เลย
รวมทริคน่ารู้ วิธีใช้ถังดับเพลิง แบบง่าย ไฟไหม้เมื่อไหร่ เอาอยู่แน่นอน
| ประเภทของเพลิงไหม้ |
ก่อนจะไปเรียนรู้ วิธีใช้ถังดับเพลิง เราควรที่จะเริ่มต้นจากประเภทของเพลิงไหม้กันก่อน เพราะอย่างที่น่าจะทราบกันดีว่า ถังดับเพลิงนั้นมีหลากหลายชนิด การจะใช้ให้ถูกวิธี ก็ต้องเลือกให้เข้ากับลักษณะของเพลิงไหม้ด้วย ซึ่งแบ่งออกได้ ดังนี้
1. เพลิงไหม้ประเภท A
เพลิงไหม้ประเภท A เรียกว่า Ordinary Combustibles เป็นเพลิงที่พบเจอได้บ่อย จากเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่ายอย่างกระดาษ เศษผ้า อาคารไม้ หากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นเพียงเล็กน้อย สามารถใช้น้ำเปล่าในการดับได้
2. เพลิงไหม้ประเภท B
ไปต่อกันที่เพลิงไหม้ประเภท B หรือ Flammable Liquids ซึ่งเกิดจากการที่ของเหลวนั้นไปติดไฟ เช่น น้ำมัน ก๊าซ และสิ่งไวไฟต่าง ๆ มักพบตามแหล่งผลิตและอุตสาหกรรมโรงงาน ดับได้ด้วยการลดปริมาณออกซิเจนในพื้นที่ที่เกิดเหตุออกให้มากที่สุด
3. เพลิงไหม้ประเภท C
เพลิงไหม้ประเภทนี้ เรียกว่า Electrical Equipment ซึ่งจะเกิดจากเหล่าอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ยังคงมีกระแสไฟฟ้าไหลเวียน เมื่อเกิดความร้อนสูง หรือชำรุด ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย โดยก่อนจะเริ่มวิธีดับเพลิง จะต้องตัดระบบไฟฟ้าให้เรียบร้อยซะก่อน
4. เพลิงไหม้ประเภท D
ต่อกันด้วยเพลิงไหม้ประเภท D หรือ Combustible Metals ซึ่งจะเกิดขึ้นกับโลหะประเภทที่ง่ายต่อการติดไฟ มักพบเจอในห้องทดลองต่าง ๆ เช่น โพแทสเซียม และไทเทเนียม เป็นต้น หากจะดับไฟลักษณะนี้ จำเป็นจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
5. เพลิงไหม้ประเภท K
ส่งท้ายกันไปด้วย เพลิงไหม้ประเภท K ที่เรียกว่า Combustible Cooking แค่อ่านชื่อก็รู้แล้วว่าต้องเกี่ยวกับการทำอาหารแน่นอน โดยเพลิงไหม้นี้จะเกิดขึ้นในครัว เกี่ยวข้องกับน้ำมัน เครื่องครัว และของเหลวไวไฟต่าง ๆ ต้องใช้ถังดับเพลิงแบบเฉพาะในการดับไฟ
| ประเภทของถังดับเพลิง |
เรียนรู้เรื่องประเภทของเพลิงไหม้กันไปแล้ว ด่านสุดท้าย ก่อนจะไปเรียนรู้ วิธีการใช้ถังดับเพลิง เห็นทีจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากการเรียนรู้ประเภทของถังดับเพลิง จะได้เลือกใช้ได้ทันท่วงที เมื่อเกิดเหตุจำเป็นขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง
เริ่มต้นกันด้วย ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง หรือ Dry Chemical Extinguishers ที่หลายคนอาจจะเห็นหน้าเห็นตากันบ่อย ๆ ทั้งตามอาคารบ้านเรือน และในละครไทย โดยถังนี้มีลักษณะเป็นเคมีแห้ง อัดด้วยก๊าซไนโตรเจน เหมาะจะใช้กับเพลิงไหม้ประเภท A – C เมื่อฉีดจะมีผงเคมีออกมากั้นการลุกลามของเปลวไฟ ไม่ให้สร้างความเสียหายเพิ่มเติม
2. ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย
ต่อกันด้วยอีกถังที่หน้าตาคล้ายกัน แต่การทำงาน และประสิทธิภาพต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหยนี้ จะมีของเหลวที่เย็นจัดอยู่ภายใน (HCFC-123) จะช่วยในการลดระดับความร้อน ไม่ให้เพลิงไหม้ลุกลาม และช่วยลดการเผาของปริมาณออกซิเจนในที่เกิดเหตุได้ ใช้ได้ในเพลิงไหม้ประเภท A – C
3. ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม
ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม หรือ Foam Extinguishers ภายในอัดแน่นด้วยโฟมแบบพิเศษ ที่จะปกคลุมเชื้อเพลิงในยามที่เกิดไฟไหม้ได้ นิยมใช้กับเพลิงไหม้ประเภท A และ B เท่านั้น
4. ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ถังดับเพลิงที่อัดแน่นไปด้วยไอเย็นจัดนี้ มีชื่อเรียกว่า ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เหมาะจะใช้ในเหตุการณ์เพลิงไหม้แบบ B และ C
5. ถังดับเพลิงชนิดน้ำ
ไปต่อกันที่ถังดับเพลิงแบบน้ำกันบ้างดีกว่า โดยถังลักษณะนี้จะใช้ได้กับเหตุการณ์ทั่วไป อย่างเพลิงไหม้ประเภท A ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน
6. ถึงดับเพลิงแบบ Wet Chemical Class K
ปิดท้ายกันไปด้วย ถังดับเพลิงแบบ Wet Chemical Class K เหมาะจะใช้กับไฟไหม้ประเภท K ตามชื่อ เนื่องจากสามารถควบคุมเชื้อเพลิงที่เกิดจากน้ำมัน หรืออุปกรณ์ในห้องครัวได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
| วิธีการใช้ถังดับเพลิง |
เรียนรู้ทั้งประเภทเพลิงไหม้ และประเภทถังดับเพลิงกันไปแล้ว ก็มาท่องจำวิธีสุดท้าย ที่สำคัญที่สุดอย่าง วิธีการใช้ถังดับเพลิง กันได้เลย โดยเรารวบรวมมาฝากกัน ดังนี้
1. ดึง
เมื่อหาถังดับเพลิงในระหว่างที่เกิดไฟไหม้ได้แล้วนั้น ให้ดึงเอาสลักของถังดับเพลิงที่ล็อคอยู่ออก หากดึงไม่ได้ให้ใช้เทคนิค บิดแล้วค่อยดึง อาจจะต้องใช้แรงเล็กน้อย ให้ตั้งสติกันดี ๆ นะ
2. ปลด
เมื่อดึงสลักได้แล้ว ให้ทำการปลดสายฉีดออกมาได้เลย แนะนำให้จับบริเวณปลายสาย จะได้ถือได้ขนัดขึ้น
3. กด
หากอยู่ในท่าทางที่พร้อมและถนัดแล้ว ให้ออกแรงกดส่วนหัวของตัวถังได้เลย เพื่อที่จะให้สารเคมีภายใน ได้ออกมาควบคุมเปลวเพลิงไม่ให้ลุกลามมากไปกว่าเดิม
4. ส่าย
ในระหว่างที่สารเคมีด้านในไหลออกมาตามสาย ผู้ฉีดจะต้องทำการส่ายส่วนปลายของสายไปรอบ ๆ เพื่อให้ต้นเพลิงสงบลงให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย กับเคล็ดลับดี ๆ อย่าง วิธีการใช้ถังดับเพลิง ที่เรานำมาฝากทุกคนกันในวันนี้ บอกเลยว่านอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้ได้จริงอีกด้วย แต่เราก็ขออวยพรให้ทุกคน ไม่ต้องเจอเหตุการณ์เลวร้ายจนต้องใช้ทริคเหล่านี้น้าา ?
เรื่อง : ชนกนันท์ สังข์เอียด
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล
- รู้เร็วไม่ตาย ‘วิธีเอาตัวรอดจากรถจมน้ำ’
- วิธีขัดกระทะให้ขาว เผยเคล็ด(ไม่)ลับ
- วิธียื่นภาษีออนไลน์ 2565 จากภาษีเงินได้ปี 2564
? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger
? Google Play Store
? App Store