24 กุมภาพันธ์ ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ เชิดชูเกียรติเหล่าผู้สร้างสรรค์
ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากจะเป็นวันแห่งความรักแล้ว ยังมีอีกหนึ่งวันที่สำคัญมาก ๆ สำหรับเหล่าศิลปินทั้งหลายนั่นคือ วันศิลปินแห่งชาติ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อเป็นการประกาศ และเชิดชูเกียรติให้กับศิลปินผู้มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังเป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยให้ยังคงอยู่กับสังคมไม่เลือนหายไปตามกาลเวลาอีกด้วย
24 กุมภาพันธ์ ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ เชิดชูเกียรติศิลปิน ดำรงไว้ซึ่งศาสตร์และศิลป์
วันศิลปินแห่งชาติ จุดเริ่มต้นของกษัตริย์ผู้ทรงรักในงานศิลป์
วันศิลปินแห่งชาติตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ผู้ทรงเป็นพระปฐมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยพระปรีชาสามารถในด้านศาสตร์ และศิลป์รอบด้านไม่ว่าจะเป็น กวีนิพนธ์ ด้านดนตรี และประติมากรรม
ดังนั้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ จึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็น “วันศิลปินแห่งชาติ” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเอกอัครศิลปินที่ยิ่งใหญ่ ผู้มีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลากหลายสาขา
- ผลงานด้านประติมากรรม
ในหลวงรัชกาลที่ 2 ทรงส่งเสริมงานช่างด้านหล่อพระพุทธรูป และยังทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม นอกจากนี้แล้วยังทรงแกะสลักบานประตูไม้พระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม คู่หน้าด้วยพระองค์เองร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี เป็นลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์ อีกทั้งยังทรงแกะสลักหน้าหุ่นหน้าพระใหญ่ และพระน้อยที่ทำจากไม้รัก ที่เรียกว่าพระยารักใหญ่ และพระยารักน้อย
- ผลงานด้านกวีนิพนธ์ วรรณกรรม
ในช่วงยุคสมัยของรัชกาลที่ 2 นั้นได้รับการยกย่องว่าเป็น ยุคทองของวรรณคดี มีความรุ่งเรืองด้านกาพย์กลอนที่แต่งขึ้นมาไพเราะ ใช้คำสวยงาม ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น อิเหนา วรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ
นอกจากนี้ ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกไว้ถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง คาวี พระไชยเชษฐ์ มณีพิชัย และสังข์ทอง และทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวรรณกรรม
- ผลงานด้านดนตรี
ในหลวงรัชกาลที่ 2 ทรงมีพระปรีชาสามารถดนตรีเป็นอย่างยิ่ง โดยเครื่องดนตรีที่ทรงถนัดและโปรดปรานคือ ซอสามสาย และมีเพลงพระราชนิพนธ์ที่ชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักกันดีคือ เพลงบุหลันลอยเลื่อน หรือ บุหลัน(เลื่อน)ลอยฟ้า ที่ต่อมามักจะเรียกว่า เพลงทรงพระสุบิน เป็นเพลงที่แพร่หลายจนรู้จักกันกว้างขวางถึงปัจจุบันเช่นกัน
24 กุมภาพันธ์ วันศิลปินแห่งชาติ
วันศิลปินแห่งชาติ ถูกเริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2527 จัดตั้งโดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จากนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เห็นถึงความสำคัญของศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานด้านศิลปะ ทั้งด้านทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ให้แก่ประเทศชาติมากมายหลายแขนง
ด้วยความที่เป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติ ส่งเสริมสนับสนุน และให้กำลังใจแก่ศิลปิน ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อันเป็นภูมิปัญญาของแผ่นดินจากศิลปินรุ่นสู่รุ่น จึงได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งในเวลานั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันหน่วยงานนี้คือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม จัดตั้ง “โครงการวันศิลปินแห่งชาติ” ขึ้น
กิจกรรม วันศิลปินแห่งชาติ
ทางคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จะมีการจัดการเสนอรายชื่อผู้ที่มีผลงานศิลปะยอดเยี่ยมในแต่ละแขนง เพื่อหาผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ศิลปินแห่งชาติ ในสาขาต่าง ๆ โดยจะเริ่มส่งรายชื่อตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี และจะประกาศผลในวันที่ 24 กุมภาพันธ์
สำหรับผู้ที่ได้รับเลือก จะได้รับ เข็มศิลปินแห่งชาติ ที่แสดงถึงความเป็นปราชญ์ในทางความรู้ ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะ อุทิศตน สร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะไว้มากมาย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินแห่งชาติเข้ารับพระราชทานเข็ม เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลสืบไป
คุณสมบัติ และหลักเกณฑ์การคัดเลือก
คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญต่อการพิจารณาเชิดชูเกียรติบุคคลด้านศิลปะ 8 ประการ ได้แก่
- มีสัญชาติไทย
- ยังมีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ
- เป็นผู้มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับ ของวงการศิลปะในสาขานั้น
- เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ
- เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศ ยกย่องเชิดชูเกียรติ
- เป็นผู้ทุ่มเท อุทิศตนเพื่องานศิลปะ และมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
- ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย
- ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
สาขาต่าง ๆ ของ วันศิลปินแห่งชาติ
หลักเกณฑ์การคัดเลือกจำแนกศิลปินแห่งชาติออกเป็นสาขาศิลปะทั้ง 4 ด้านสาขาหลัก ได้แก่
- สาขาทัศนศิลป์
ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา ไม่ว่าจะเป็นศิลปะสองมิติ หรือสามมิติ อันได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์ และมีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยแบ่งออกเป็นสาขาย่อย ๆ อีกถึง 15 สาขาด้วยกัน
- สาขาศิลปะการแสดง
ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ สามารถแบ่งย่อยได้อีก 4 สาขา ได้แก่ สาขาดนตรี สาขานาฏศิลป์ สาขาการแสดงภาพยนตร์ และสาขาการแสดงละคร โดยทั้ง 4 สาขานี้ ก็จะมีการแบ่งแตกแขนงไปตามผลงานแต่ละสไตล์อีกทีหนึ่ง
- สาขาวรรณศิลป์
บทประพันธ์ที่ทำให้เกิดจินตนาการ สร้างความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ร่วมกับบทประพัทธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ นวนิยาย เรื่องสั้น บันเทิงคดีสำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ วรรณกรรมเยาวชน หนังสือเด็กที่ได้รับการตีพิมพ์
- สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม
งานออกแบบ และงานก่อสร้างอาคารสวยงาม ที่มีคุณค่าทางศิลปะ และมีวิทยาการ แสดงภูมิปัญญาของผู้ออกแบบอย่างโดดเด่น ทั้งสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
สิทธิประโยชน์ที่ศิลปินแห่งชาติจะได้รับ
- ค่าตอบแทนรายเดือน ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ 25,000 บาท / เดือน
- ค่ารักษาพยาบาลว่าด้วยเงินสวัสดิการวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท / ปี
- เงินช่วยเหลือประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง ไม่เกิน 50,000 บาท / ครั้ง
- ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,000 บาท / ครั้ง
- เงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท
- เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 150,000 บาท
เป็นอย่างไรกันบ้างกับการพาไปรู้จัก วันศิลปินแห่งชาติ ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่มอบโอกาส และขวัญกำลังใจให้กับเหล่าศิลปินทั้งหลาย ได้มีแรงผลักดันในการสร้างสรรค์ผลงานต่อ ๆ ไป เราในฐานะผู้เสพผลงานก็สามารถมีส่วนช่วยในการสนับสนุนผลงานของเหล่าศิลปินทั้งหลายด้วยการอุดหนุนสิ่งที่ถูกลิขสิทธิ์ ไม่ซื้อของเถื่อน เมื่อเราไม่ซื้อก็ไม่มีคนขาย มาร่วมกันสนับสนุนเหล่าผู้สร้างให้ถูกต้องกันดีกว่า
เรื่อง : สิทธิโชติ ลังกากาศ
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล
- ปฏิทิน วันสำคัญ 2565 วันหยุดนักขัตฤกษ์ เทศกาล ตลอดปี
- เปิดปฏิทิน วันหยุด 2565 รวมวันหยุดทั้งปี
- ดูดวงปี 2565 ตามราศี ฉบับตะวันตก ครบทั้ง 12 ราศี
? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger