แพทย์ แจง – ร่างกายหลังติดโอมิครอน จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิม
แพทย์ ม.มหิดล เปิดเผยถึงข้อมูลของ ร่างกายหลังติดโอมิครอน หรือโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะมีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่กลับมาเหมือนเดิม
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 – รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการโพสต์เปิดเผยถึงข้อมูลของสภาพ ร่างกายหลังติดโอมิครอน หรือโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ที่ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติก่อนการติดเชื้อ
รายละเอียดของข้อมูลดังกล่าวนั้น มีด้วยกันดังนี้
เมื่อวานตรวจเยี่ยมผู้ป่วยนอกสามรายและผู้ป่วยในหนึ่งรายจากโควิดโอไมครอน มาบอกกล่าวให้รับทราบถึงผลพวงการเจ็บป่วย และถ้าเป็นได้ขอเป็นเสียงเล็กๆ ที่ส่งผ่านข้อมูลสะท้อนไปถึงการตัดสินใจของศบค.ในช่วงสายวันนี้ เพื่อกำหนดชะตากรรมของประเทศต่อไป
ชายวัยฉกรรจ์เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เดิมแข็งแรงดี ร่างกายล่ำบึ้ก ป่วยจากโอไมครอนแบบอาการน้อยไม่มีปอดอักเสบ รักษาในฮอสปิเตล ผ่านมาราวหนึ่งเดือนยังรู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียง่าย มีเสมหะบ่อย ไม่สามารถออกกำลังได้หนักเท่าเดิม
หญิงอายุ 80+ ปี เดิมแข็งแรงดีเว้นมีโรคความดันโลหิตสูงรักษาสม่ำเสมอ ป่วยแบบอาการไม่รุนแรงจากปอดอักเสบเล็กน้อย ออกจากโรงพยาบาลราวครึ่งเดือน ตรวจวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนปลายนิ้วปกติคือเกิน 95% แต่ยังอ่อนเพลีย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และการรับรู้ของสมองลดลง
หญิงอายุ 30+ ปี เดิมแข็งแรงดี ทำงานออฟฟิศ ป่วยแบบอาการไม่รุนแรง รักษาตัวที่บ้านด้วยยารักษาตามอาการภายใต้การติดตามของโรงพยาบาล หลังหายแล้วกว่าหนึ่งเดือน ยังคงไอ มีเสมหะ และเพลียง่าย ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
รายสุดท้ายเป็นชายอายุ 60+ ปี น้ำหนักตัวเกือบร้อยโล หลังมีอาการได้สี่วัน (ไข้ น้ำมูก ไอมีเสมหะ และถ่ายเหลว) หอบเหนื่อยมาก เกิดปอดอักเสบรุนแรงจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เอกซเรย์ปอดดังรูป
ทุกรายได้รับวัคซีนเข็มพื้นฐานครบถ้วนและไม่เกิน 3 เดือน กำลังรอรับเข็มกระตุ้น
โอไมครอนติดง่าย วัคซีนเข็มพื้นฐานทุกสูตรกันติดได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะถ้าเวลาเกินสามเดือนในคนปกติ หรือไม่ถึงสามเดือนในคนเปราะบาง แต่วัคซีนเข็มพื้นฐานยังช่วยกันรุนแรงจนถึงตายได้ แต่อาจไม่โชคดีทุกคนดังเช่นความรุนแรงของรายสุดท้าย
แต่การฉีดวัคซีนโควิดทั้งเข็มพื้นฐานและเข็มกระตุ้นในทุกสูตร ยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
แม้จะป่วยแบบไม่มีอาการหรือมีอาการแต่ไม่รุนแรง เมื่อหายแล้วมีบางส่วนที่ร่างกายยังไม่กลับเหมือนเดิมได้เร็ว ไม่ว่าต้นทุนสุขภาพเดิมจะดีแค่ไหนก็ตาม
แหล่งที่มาของข่าว : Facebook – นิธิพัฒน์ เจียรกุล
สามารถติดตามข่าวโควิด-19 เพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวโควิด-19
- สปสช. ยืนยัน! โควิด-19 ยังคงรักษาฟรี แม้ถอดจากรายการ โรคฉุกเฉิน
- 7 ขั้นตอนง่ายๆ จองฉีดวัคซีนโควิด กทม. ผ่านแอป QueQ