ข่าวผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

รู้จัก วันรักนกเงือก สัตว์สำคัญของระบบนิเวศน์ ตัวแทนความรักเดียว ใจเดียว

เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปีนั้น ถือเป็น วันรักนกเงือก สัตว์สำคัญของระบบนิเวศน์ และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ตัวแทนของความรัก ที่สื่อถึงความรักเดียว ใจเดียว โดยในวันนี้ The Thaiger จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับสัตว์น้อยมหัศจรรย์นี้ว่า ทำไมจะต้องมีวันรักนกเงือกเกิดขึ้น และสัตว์ชนิดนี้มีประโยชน์ต่อธรรมชาติอย่างไร ใครพร้อมแล้ว ก็ไปเริ่มเรียนรู้พร้อมกันได้เลย

13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก สัตว์รักเดียวใจเดียว ตัวแปรสำคัญของระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ

วันรักนกเงือก

Advertisements

ชวนรู้จักนกเงือกเนื่องใน วันรักนกเงือก

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์แบบนี้ นอกจากเทศกาลวันวาเลนไทน์แล้ว ยังมีอีกหนึ่งวันสำคัญอย่าง วันรักนกเงือก ให้เราได้ชื่นชมความสำคัญ และตระหนักถึงนกสายพันธุ์พิเศษที่สำคัญต่อระบบนิเวศน์นี้ โดยนกเงือกนั้นมีจำนวนทั้งหมด 54 ชนิด ซึ่งสามารถพบได้ในประเทศไทยเพียง 13 ชนิดเท่านั้น

นกเงือก

สาเหตุที่นกเงือกมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ นั่นก็เพราะว่า นกชนิดนี้มักจะกินผลไม้ที่สุกงอม โดยจะใช้วิธีการกินเข้าไปทั้งเปลือก เป็นเหตุให้เมื่อเวลาที่บินไปบนท้องฟ้า หรือแวะพักในป่าต่าง ๆ นกเงือกจะขับถ่ายเมล็ดพรรณที่สมบูรณ์ทิ้งไว้ด้วยนั่นเอง ทำให้เมล็ดพืชกว่า 250 ชนิด กระจ่ายไปทั่วผืนป่า สร้างความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งอาหารให้ทั้งมนุษย์ ตลอดจนสัตว์ชนิดอื่นในธรรมชาติ

นอกจากนี้แล้ว นกเงือกยังเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์รักเดียวใจเดียวอีกด้วย เพราะเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ นกเงือกจะมีคู่รักตัวเดียวไปจนวันตาย ทำให้ใครหลายคน นำนกเงือกมาเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ซื่อสัตย์ และแท้จริงด้วยนะ ด้วยความสำคัญเหล่านี้เอง ทำให้มีการกำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันรักนกเงือกเรื่อยมา

วันรักนกเงือก

Advertisements

นกเงือกไทยทั้ง 13 ชนิด

อย่างที่ได้ทราบกันไปแล้วว่า นกเงือกนั้นมีมากมายหลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไป วันนี้เราเลยรวบรวมนกเงือก 13 ชนิด ที่เคยมีการพบเจอในประเทศไทยมาฝากทุกคน ดังนี้

  1. นกเงือกคอแดง – Rufous-necked Hornbill

เริ่มต้นกันด้วยชนิดแรก นั่นก็คือนกเงือกคอแดง โดยนกเงือกชนิดนี้มีลักษณะเด่นอยู่ที่ขนาดลำตัวที่สูงราว 110 -120 เซนติเมตร ตัวผู้มีสีคล้ายสนิมเหล็ก ส่วนตัวเมียมีหัวสีดำ แต่ทั้งคู่มีหนึ่งอย่างที่เหมือนกัน นั่นก็คือคอที่เป็นสีแดง พบได้ตามป่าดิบเขาทางตะวันตกของไทย

นกเงือก

  1. นกเงือกปากดำ – Bushy-crested Hornbill

นกเงือกปากดำ หรือกาเขา มักจะพบเจอบริเวณป่าดิบชื้นในเขตภาคใต้ของไทย มีลักษณะเด่นตรงปากและโหนกแก้มที่เป็นสีดำในตัวผู้ ส่วนตัวเมียจะมีสีเหลืองแซมให้ได้เห็นประปราย

  1. นกเงือกสีน้ำตาล – Brown Hornbill

นกเงือกชนิดนี้อาศัยอยู่ในแทบป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ และป่าเต็งรัก จึงสามารถพบได้ในภาคตะวันตกและภาคเหนือ ตัวผู้มีคอและอกสีแดง ปากสีน้ำตาล ส่วนตัวเมียจะมีปากสีดำ นอกจากนี้ พวกมันยังถือเป็นนกที่มีผู้ช่วยเลี้ยง นั่นก็คือ นกตัวที่โตเต็มวัยแต่ยังไม่มีคู่ จะต้องคอยช่วยพ่อนกเลี้ยงดูนกเกิดใหม่ในครอบครัว ถือเป็นความพิเศษแสนรู้เฉพาะตัวจริง ๆ

  1. นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว – White-throated Brown Hornbill

นกเงือกชนิดนี้ มีความคล้ายคลึงกับนกเงือกสีน้ำตาล แต่ต่างกันตรงที่จะมีขนคอและอกสีขาว แถมยังมีถิ่นอาศัยที่ค่อนข้างต่างกัน พบได้ตามป่าดงดิบในภาคตะวันออกของไทย

  1. นกเงือกดำ – Black Hornbill

อย่าจำสลับกับนกเงือกปากดำเชียวนะ เพราะนกชนิดนี้ เขามีจุดเด่นเฉพาะตัวอยู่ที่ ปากและโหนกสีงาช้างในตัวผู้ ส่วนตัวเมียก็จะมีขอบตาสีชมพูให้ได้เห็น โดยมักจะอาศัยอยู่ในป่าราบต่ำและป่าพรุของภาคใต้เรานี่เอง

  1. นกเงือกหัวหงอก – White-crowned Hornbill

นกเงือกชนิดนี้ถูกเรียกว่าหัวหงอก เพราะตัวเมียจะมีขนบนหัวเป็นสีขาว ส่วนตัวผู้จะเป็นสีขาวตรงบริเวณลำตัว มักจะอาศัยกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ไม่เกิน 7 ตัว และจะคอยส่งเสียงร้องน่ารัก ให้คนในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางใต้ได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ

  1. นกแก๊ก – Oriental Pied Hornbill

นกแก๊กมีขนาดราว 80 เซนติเมตร พบได้ในป่าเกือบทั่วประเทศไทย ยกเว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นนกชนิดที่มีจำนวนมากที่สุดในหมู่นกเงือกด้วยกัน เพราะมีความสามารถในการปรับตัวอยู่เสมอ จุดเด่นอยู่ที่ปากและโหนกสีงาช้างแต้มด้วยสีดำ

นกเงือก สัตว์รักเดียวใจเดียว

  1. นกเงือกกรามช้างปากเรียบ – Plain-pouched Hornbill

ไปต่อกันด้วย นกเงือกกรามช้างปากเรียบ ซึ่งตัวเมียจะมีถุงใต้คอสีฟ้า ในขณะที่ตัวผู้จะมีถุงใต้คอสีเหลือง ชื่นชอบการบินในระยะไกล และกำลังจะใกล้สูญพันธุ์เร็ว ๆ นี้

  1. นกเงือกกรามช้าง – Wreathed Hornbill

นกเงือกกรามช้าง เป็นนกเงือกที่มักจะทำรังสำหรับวางไข่ในโพรงต้นไม้ และต้องเลือกอาศัยในป่าที่สมบูรณ์สุด ๆ เท่านั้น ทำให้มันกำลังถูกคุกคาม จากผู้คนที่เข้าไปแย่งที่อยู่อาศัยของพวกมันเป็นอย่างมาก

  1. นกเงือกปากย่น – Wrinkled Hornbill

ต่อกันด้วย นกเงือกปากย่น โดยนกชนิดนี้จะช่วยให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์เป็นพิเศษ เนื่องจากพวกมันจะกินผลไม้ทั้งเปลือก และคอยบินขับถ่าย ให้เมล็ดพรรณไปงอกเงยบนผืนดินในที่ต่าง ๆ พบได้ในจังหวัดเกือบใต้สุดของประเทศไทย

นกเงือก

  1. นกกก – Great Hornbill

นกสีสวย ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่น้อยจนน่าใจหาย จึงคาดว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้านี้ หากใครโชคดี ก็อาจจะได้เห็นพวกมัน ในป่าดงดิบและป่าผสมผลัดใบ ในแถบภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคเหนือ

  1. นกเงือกหัวแรด – Rhinoceros Hornbill

นกเงือกหัวแรด เป็นหนึ่งในนกเงือกชนิดที่จะใกล้จะสูญพันธุ์ ตัวเมียมีม่านตาสีขาว ส่วนตัวผู้มีม่านตาสีแดง ทั้งสองมีโหนกสีสด ที่มองดูสวยงามเป็นอย่างมาก

นกเงือก

  1. นกชนหิน – Helmeted Hornbill

ปิดท้าย วันรักนกเงือก กันไปด้วย นกชนหิน ที่มีความยาวกว่า 127 เซนติเมตร ตัวผู้มีหนังเปลือยสีแดงตรงคอ ในขณะที่ตัวเมียจะมีคอสีฟ้า และเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในเร็ววันนี้แล้ว

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ วันรักนกเงือก ที่เรานำมาฝากทุกคนกันในวันนี้ บอกเลยว่าเต็มไปด้วยข้อมูลดี ๆ ให้ได้เรียนรู้กันเพียบ ฉะนั้นเมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์เมื่อไหร่ ก็อย่ามัวแต่ตั้งหน้าตั้งตารอวันวาเลนไทน์ จนลืมวันสำคัญดี ๆ แบบนี้นะ

เรื่อง : ชนกนันท์ สังข์เอียด

บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล

อ้างอิง Seub Hornbill

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button