เทศกาลตรุษจีนเวียนมาบรรจบอีกครั้งในปีนี้ เหล่าคนไทยเชื้อสายจีน ก็เตรียมตัวรับทรัพย์ แบมือขอ อั่งเปา กันได้เลย แน่นอนว่านอกจากจะรับโชคกันแบบจุใจแล้ว The Thaiger ยังมีของขวัญดี ๆ อย่างความรู้เกี่ยวกับ ซองอั่งเปา 2022 และสิ่งมงคลประจำเทศกาลตรุษจีนมาฝากทุกคนด้วยนะ รับรองว่าชีวิตจะต้องปังตั้งแต่ต้น จนท้ายปีชัวร์!
ชวนรู้จักความหมายของ อั่งเปา และสิ่งมงคลน่าสนใจ ให้ชีวิตหลังตรุษจีนปังให้สุด ไม่มีหยุดพัก
ความหมายของอั่งเปา ซองเงินสีแดงที่ใคร ๆ ก็อยากได้
อั่งเปา 红包 ซองแดงที่ใครหลาย ๆ คนอยากได้รับในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างตรุษจีน เป็นซองเงินที่ชาวจีนคอยมอบให้กันในช่วงเวลาสำคัญ อย่างวันปีใหม่จีน และวันแต่งงาน โดยคำว่าอั่งเปานั้น แต่เดิมเป็นการออกเสียงของชาวจีนในแถบแต้จิ๋ว ที่แปลตรงตัวได้ว่า ซองแดง หรือ กระเป๋าแดง
โดยผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า มีเงินและการงานที่มั่นคง จะเป็นฝ่ายมอบซองแดงให้กับเด็ก หรือผู้ที่ยังไม่ได้ทำงาน ตลอดจนเหล่าผู้สูงวัยที่เกษียณแล้ว เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งสาเหตุที่เลือกใช้สีแดง ก็เพราะชาวจีนมองว่าสีแดงคือ สีแห่งความเป็นมงคลและความโชคดี ทำให้ลูก ๆ หลาน ๆ ทั้งหลาย ต่างกันตั้งตารอคอยเทศกาลสำคัญนี้ เพื่อที่จะได้รับทั้งทรัพย์ และความโชคดีไปตลอดทั้งปีนั่นเอง
ข้อแตกต่างระหว่าง อั่งเปา และ แต๊ะเอีย
เชื่อว่าจะต้องมีหลายคนที่สับสนระหว่างคำว่า อั่งเปา และ แต๊ะเอีย ต่างกันยังไง แน่นอน ซึ่งความจริงแล้วทั้งสองอย่างนี้ มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร เพราะอย่างที่เราทราบกันไปแล้วว่า อั่งเปานั้นจะมอบให้กันในซองแดง ต่างจาก แต๊ะเอีย ที่จะมอบให้กันโดยการเหน็บเข้าที่เอว ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว
โดยสาเหตุที่มีการใช้คำว่า แต๊ะเอีย นั้น ก็เพราะในสมัยก่อนเงินของชาวจีน จะมีลักษณะเป็นเหรียญที่มีรูอยู่ตรงกลาง เวลาที่มอบให้กัน ก็จะมีการนำเชือกมาร้อยผ่านรูกลางเหรียญ แล้วผูกไว้ที่เอวให้กับเด็ก ๆ ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า แต๊ะ 压 ที่แปลว่า ติด และ เอีย 腰 ที่แปลว่า เอว นั่นเอง
ชวนส่องสิ่งมงคล น่าทำในช่วงวันตรุษจีน
สำหรับใครที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน แน่นอนว่าในช่วงเทศกาลแบบนี้ ก็ต้องอยากทำสิ่งมงคล ที่เชื่อว่าจะช่วยให้ชีวิตตลอดทั้งปี ราบรื่น และปังไม่มีสะดุด ซึ่งวันนี้ เราได้รวบรวม 5 สิ่งมงคลที่ควรทำในช่วงวันตรุษจีน มาฝากทุกคนแล้ว ดังนี้
1. ไหว้เจ้าวันตรุษจีน
เริ่มต้นเทศกาลปีใหม่จีนทั้งที จะพลาดไม่ได้เลยกับการไหว้เจ้า เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษและเหล่าคนรักที่ได้จากไปแล้ว โดยพิธีนี้จะต้องถูกเตรียมการอย่างดี จากเหล่าครอบครัวและเพื่อนฝูง ซึ่งจะมีการคำนึงถึงความสำคัญของสิ่งเล็กน้อยทุกอย่าง ที่ใช้ในการปรุงอาหารไหว้เจ้า เพื่อให้เป็นสิริมงคลมากที่สุด โดยวัตถุดิบที่นิยมใช้กันในช่วงเทศกาล ได้แก่
- ปลาทั้งตัว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
- เส้นหมี่ (ยาว) หมายถึง ชีวิตที่ยืนยาว
- เกี๊ยว หมายถึง ความมั่งคั่ง
- เกาลัด หมายถึง เงินทอง ของมีค่า
- ไก่ทั้งตัว หมายถึง ความสมบูรณ์ มั่งมี ก้าวหน้า
- ส้ม หมายถึง นำพาความร่ำรวย
2. ใส่เสื้อผ้าสีสดใส
สำหรับอีกหนึ่งสิ่งมงคลที่ควรทำให้วันตรุษจีน ก็คือการสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายสีสดใส หรือเสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่ เพื่อรับสิ่งดี ๆ ที่สดใส ให้เข้ามาในชีวิต เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่เชื่อว่าจะทำให้รุ่งโรจน์ไปตลอดทั้งปี โดยจะนิยมใส่เป็นสีแดง สีทอง สีเหลือง สีเขียว และสีน้ำเงิน เพราะล้วนแต่มีความหมายที่ดีเป็นมงคล และไม่นิยมใส่สีขาวหรือสีดำเด็ดขาด เพราะเกรงว่าจะได้ผลในทางตรงกันข้ามนั่นเอง
3. ยิ้มแย้มและอวยพรให้แก่กัน
ชาวจีนมีความเชื่อว่า เมื่อเริ่มต้นปีใหม่ ก็ควรที่จะยิ้มและอวยพรสิ่งดี ๆ ให้กันเพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องจากเป็นเทศกาลที่จะได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว จึงควรอวยพรให้กันและกันมีความสุขสมหวังตลอดทั้งปี ซึ่งจะมีคำพูดอวยพรที่เราคุ้นหูกันว่า ซิงเจียหยู่อี่ ซิงนี้ฟาไฉ
4. ออกมานั่งรับแขกนอกห้องนอน
คนจีนมีความเชื่อว่า ไม่ควรที่จะให้แขกเข้าห้องนอน และไม่ควรที่จะไปเข้าห้องนอนใครในช่วงวันตรุษจีน เนื่องจากจะนำความโชคร้ายมาให้ แต่อีกนัย ก็เพื่อให้ญาติพี่น้อง และเหล่ามิตรสหาย ได้ใช้เวลาร่วมกันให้ห้องใหญ่ ไม่ต้องปลีกวิเวกไปจากกัน
5. รับอั่งเปา
แน่นอนว่าเทศกาลแบบนี้ จะขาดพระเอกของเราอย่างอั่งเปาไปได้อย่างไรกัน เพราะการที่จะทำให้วันปีใหม่จีนสมบูรณ์แบบนั้น ผู้ใหญ่จะต้องมอบซองแดง ที่บรรจุธนบัตรหรือของมีค่า ให้กับลูกเล็กเด็กแดง เพื่ออวยพรให้สมาชิกในครอบครัวเหล่านี้มีความสุข โชคดี และเฮง ไปตลอดทั้งปีนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย กับเคล็ดลับความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ อั่งเปา และเทศกาลตรุษจีนที่ The Thaiger รวบรวมมาฝากทุกคนกันในวันนี้ เชื่อว่าถ้าใครปฏิบัติตาม จะต้องมีปีที่ทั้งปัง ทั้งเฮง กันอย่างแน่นอนเลย สำหรับใครที่อ่านบทความนี้อยู่ เราก็อยากอวยพรให้มีช่วงเวลาปีใหม่จีนที่ดี และสดใส รับซองอั่งเปากันแบบจุก ๆ ตลอดทั้งเทศกาลเลยนะ
เรื่อง : ชนกนันท์ สังข์เอียด
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล