กุมารแพทย์ เผย แนวทางฉีดไฟเซอร์เด็ก ย้ำวัคซีนปลอดภัย
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ได้เปิดเผยถึง แนวทางฉีดไฟเซอร์เด็ก ที่จะเริ่มในวันที่ 31 ม.ค. ย้ำวัคซีนปลอดภัย เตือนผู้ปกครองอย่าให้ลูกหลานออกกำลังหลังฉีดวัคซีน
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมแถลงถึงแนวทางการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก ที่จะเริ่มฉีดวันแรกในวันที่ 31 ม.ค นี้ โดยจะเริ่มจากเด็กในกลุ่มผู้เสี่ยงก่อน
โดย ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 มักไม่มีอาการหรืออาการน้อยถึง 98% การเสียชีวิตก็น้อย แต่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อป้องกันด้วย โดยเฉพาะเด็กมีโรคประจำตัวเรื้อรังที่มีโอกาสรุนแรงและเสียชีวิตได้ รวมถึงจะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนในครอบครัว นอกจากนี้ ช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา เราพบภาวะอักเสบทั่วร่างกายหรือมิตซีในเด็กที่ติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการไม่ติดเชื้อและไม่เป็นก็จะดีกว่า
สำหรับวัคซีนโควิดในเด็กอายุ 5-11 ปี ที่ อย.รับรองคือของไฟเซอร์ ใช้ขนาด 10 ไมโครกรัม ทำมาเพื่อสำหรับเด็กโดยเฉพาะ จึงไม่ควรเอาสูตรของผู้ใหญ่มาแบ่งฉีด ถึงมีการทำฝาขวดสีต่างกัน เพื่อป้องกันการสับสน สำหรับผลข้างเคียงภายหลังการฉีด
จากข้อมูลของสหรัฐอเมริกาที่มีการฉีดเด็กอายุ 5-11 ปีไปแล้ว 9 ล้านคน ก็พบว่าไม่มีปัญหาอะไร อาจมีอาการปวดบวมแดงบริเวณแขนที่ฉีด แต่พบอาการไข้น้อยกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาการต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 วันก็หายหมดค่อนข้างปลอดภัย ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบประมาณ 11 คน แต่ตรวจแล้วอาการเล็กน้อย รักษาหายทั้งหมด ไม่มีอาการรุนแรงสักคน และคิดว่าไม่เป็นปัญหาใหญ่
ส่วนระยะห่างในการฉีดนั้น ที่สหรัฐฯ ฉีดห่าง 3 สัปดาห์ ขณะที่อังกฤษและออสเตรเลียพยายามฉีดห่าง 8 สัปดาห์ เนื่องจากภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยลงไปอีกแทบไม่มีเลย ซึ่งเด็กเราต้องเลือกที่ปลอดภัยที่สุด เราจึงฉีดห่างไว้ก่อน 8 สัปดาห์ ภูมิขึ้นดี ผลข้างเคียงน้อยลง
ดังนั้น การฉีดในโรงเรียนจึงแนะนำที่ 8 สัปดาห์ แต่เด็กที่มีโรคและกลัวจะติดก็เร่งฉีดได้ที่ประมาณ 4 สัปดาห์ ไม่ควรจะเร็วกว่านั้น เดิมที่ที่อังกฤษเอาที่ 12 สัปดาห์ด้วยซ้ำ แต่โอมิครอนระบาดจึงเลื่อนมา 8 สัปดาห์เพื่อให้เร็วขึ้นหน่อย
โดยขั้นตอนการฉีดมี 4 ขั้นตอน คือ 1.การคัดกรอง โดยเด็กสามารถรับประทานยาโรคประจำตัวได้ตามปกติที่แนะนำ รับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ โดยกุมารแพทย์จะประเมินว่า เด็กที่มีโรคประจำตัวมีข้อควรระวังอะไรหรือไม่ ซึ่งหลักๆ มี 2 เรื่อง คือ 1) ขณะป่วยมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาให้หายดีก่อน ชะลอหรือเลื่อนการฉีด จนกว่าจะเป็นปกติ หรือ 2) เด็กที่มีโรคประจำตัวอาการรุนแรงที่อาจอันตรายถึงเสียชีวิต อาการไม่คงที่ อาจชะลอไปก่อน ให้รักษาโรคประจำตัวให้ดีก่อน
2.ลงทะเบียนยืนยันการฉีดอีกครั้ง โดยเซ็นใบยินยอมว่าทบทวนดีแล้ว 3.การฉีดวัคซีน ซึ่งในผู้ใหญ่ให้จัดสถานที่โล่ง แต่ในเด็กเล็กหรืออนุบาล ซึ่งบางทีเมื่อเห็นเด็กคนไหนฉีดแล้วมีการร้อง อาจจะเกิดผลด้านจิตใจ เกิดอุปาทานหมู่ ยอมรับฉีดยากขึ้น
ดังนั้น ขอให้จัดฉีดในสถานที่มิดชิด มีฉากกั้น ม่านกั้น หรือเป็นห้อง จะช่วยลดการกังวลของเด็ก และ 4.หลังฉีดรอดูอาการ 30 นาที เมื่อกลับบ้านไปแล้ว 1 สัปดาห์ไม่ควรออกกำลังกาย ปีนป่าย ว่ายน้ำ ที่ต้องใช้แรง ต้องช่วยกันดูแลตรงนี้
- ไฟเซอร์เด็ก ถึงไทยพรุ่งนี้ เตรียมฉีดให้เด็กที่มีโรคประจำตัวก่อน
- สธ. เดินหน้าฉีด ไฟเซอร์เด็ก 31 ม.ค. นี้ ล็อตแรกมาถึง 3 ล้านโดส
- โควิดไทยวันนี้ 27 ม.ค. 65 ติดเชื้อเพิ่ม 8,078 ราย ดับ 22 ศพ