‘ศูนย์จีโนมรามา’ เผย พบผู้ป่วยโควิด 2 รายติด โอมิครอน BA.2
ศูนย์จีโนมของโรงพยาบาลรามา เปิดเผยว่าขณะนี้ พบผู้ป่วยโควิด 2 รายติด โอมิครอน BA.2 ชี้สามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์หลัก
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก พูดถึงสายพันธ์หลักและสายพันธุ์ย่อยของโควิดโอมิครอน พร้อมเปิดเผยอีกด้วยว่าพบผู้ป่วยโควิดโอมิครอนสายพันธุ์รอง BA.2 ในไทยแล้ว 2 รายอีกด้วย
โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “ธรรมชาติของไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อเกิดมีสายพันธุ์หลักก็จะติดตามมาด้วยการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย ในกรณีของโอมิครอนจะมีสายพันธุ์หลักเป็น“B.1.1.529” หรือ “BA.1” แล้วเริ่มมีการกลายพันธุ์ไปอีก 2 สายพันธุ์ย่อยคือ“BA.2” และ “BA.3”
โอมิครอนสายพันธุ์หลัก “BA.1” ถูกถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างผู้ติดเชื้อทั่วโลกทั้งสิ้น 514,417 ราย(8%) พบในประเทศไทย 561 ราย(23%) กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ประมาณ 60-70 ตำแหน่ง (จากจีโนมทั้งสาย 3 หมื่นตำแหน่ง)
โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ถูกนำมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วทั้งสิ้น 10,811 ราย (<0.5%) พบในประเทศไทย 2 ราย(1%) กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ประมาณ 70-80 ตำแหน่ง
ทาง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ตรวจพบ BA.2 จำนวน 1 ตัวอย่าง ด้วยเทคโนโลยี “Mass array genotyping” ซึ่งกำลังยืนยันผลด้วยเทคนิค “Long read, whole genome sequencing” คาดว่าจะแล้วเสร็จในอาทิตย์นี้
ส่วนผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรง ผล X-ray มีอาการปอดบวมเล็กน้อย แพทย์ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ไปตอนนี้หายดีแล้ว ตรวจไม่พบไวรัสจากตัวอย่างสวอป
โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.3 ถูกถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างทั่วโลกประมาณ 86 ราย(<0.5%) ยังไม่พบในประเทศไทย (not detected) กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ประมาณ 55-65 ตำแหน่ง
การคัดกรองทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้นเพื่อแยกสายพันธุ์ “เดลต้า” และ “โอมิครอน ออกจากกันมักจะตรวจโดยวิธี RT-PCR 3 ตำแหน่งบน 3 ยีน
โดยเดลต้า จะถูกตรวจพบด้วย RT-PCR ครบทั้ง 3 ยีน ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์หลัก “BA.1” ตรวจด้วย RT-PCR เพียง 2 ใน 3 ยีน เนื่องจากตรวจไม่พบ S ยีน หรือมี “S target failure (SGTF)” เนื่องจากมีการกลายพันธุเกิดการขาดหายไปของกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 69-70 (del 69-70) บนโปรตีนหนามจนตัวตรวจจับ (PCR primers) จับยีน S ไม่ได้
BA.2 บางครั้งถูกเรียกว่าสายพันธุ์ล่องหน (Stealth Variant)” เพราะสามารถตรวจ RT-PCR ได้ครบทั้งสามยีน ทำให้แยกไม่ออกระหว่าง “เดลตา” กับ “BA.2” เพราะเดลตาก็ตรวจ RT-PCR ได้ครบทั้งสามยีนเช่นกัน
สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) ประกาศให้ BA.2 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องสอบสวน (Variant Under Investigation: VUI) เมื่อวันที่ 21 ม.ค.65
ที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ เนื่องจากใช้เทคโนโลยี “จีโนไทป์” จึงไม่ประสบปัญหา “S target failure (SGTF)” สามารถพัฒนาให้ชุดตรวจตรวจจับทั้ง BA.1, BA.2, และ BA.3 และ เดลต้า อัลฟา เบตา แกมมา ไปพร้อมกันได้ในหลอดเดียว (single tube reaction) ภายใน 24-48 ชั่วโมง ด้วยค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม
BA.2 กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” มากที่สุดประมาณ 70-80 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนทางคลินิกว่ามีอาการรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์หลัก BA.1 หรือไม่ แต่คาดคะเนจากข้อมูลทางระบาดวิทยาว่าอาจแพร่ติดต่อได้เร็วกว่าโอมิครอน BA.1 อยู่บ้าง
BA.2 เคยได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะหมดความสนใจไป เพราะมีการระบาดอยู่ในวงจำกัด
แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีการระบาดแพร่กระจายมากขึ้น โดยนักวิจัยสามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างจากทั่วโลกได้แล้วทั้งสิ้นถึง 10,811 ราย
ส่วน BA.3 ทั่วโลกสามารถถอดรหัสทั้งจีโนมมาได้เพียง 86 ตัวอย่าง กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู๋ฮั่น” น้อยที่สุดประมาณ 55-65 ตำแหน่ง ไม่มีข้อมูลทางคลินิกมากนัก
- หมอยง ชี้! โอมิครอน แพร่กระจายเร็วเเรง แซงสายพันธุ์เดลต้า
- โควิดไทยวันนี้ 25 ม.ค. 65 ติดเชื้อเพิ่ม 6,718 ราย ดับ 13 ศพ
- ‘หมอยง’ เผย โควิดโอมิครอน มีสองสายพันธุ์ย่อย ไทยเจอตัวเดียว