ติช นัท ฮันห์ ‘บิดาแห่งการมีสติตื่นรู้’ มรณภาพในวัย 95 ปี
หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ พระมหาเถระนิกายเซน ผู้นำทางจิตวิญญาณ และผู้บุกเบิกวิถีแห่งการเจริ
หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ มรณภาพอย่างสงบที่วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ 80 ปีก่อน
หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เป็นนักเขียนและกวีที่มีผลงานตีพิมพ์กว่า 100 เล่ม และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 40 ภาษา มียอดขายกว่า 5 ล้านเล่มเฉพาะในสหรัฐเพียงประเทศเดียว
หนังสือขายดีได้แก่ ปาฏิหาริย์แห่งการมีสติ (The Miracle of Mindfulness), สันติภาพทุกย่างก้าว (Peace is Every Step), ความโกรธ ปัญญาดับเปลวไฟแห่งโทสะ (Anger) และ How to Love
หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ได้รับสมญานามว่า “บิดาแห่งการมีสติตื่นรู้” เป็นผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งการปฏิวัติการเจริญสติ
ท่านได้ถ่ายทอดคำสอนแก่ลูกศิษย์ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนสติภาวนาชั้นแนวหน้ามากมาย และได้พัฒนาวิถีแห่งการบำบัดที่เชื่อมโยงกับจิตวิทยาคลินิกแขนงหลัก เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคเครียด
หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ยังมีอิทธิพลต่อผู้นำในแวดวงต่าง ๆ ทั้งการเมือง ธุรกิจ ความยุติธรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้กล่าวปาฐกถาธรรมที่รัฐสภาสหรัฐ อังกฤษ อินเดีย และไอร์แลนด์เหนือ
มาร์ค เบนีออฟ มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยี, จิม คิม อดีตประธานธนาคารโลก และคริสเตียนา ฟิเกเรส ผู้บุกเบิกความตกลงปารีสว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่างยกย่องคำสอนของท่านว่าช่วยสร้างพลังและและบันดาลใจให้แก่พวกเขา
สารคดี ก้าวเดินกับฉัน (Walk With Me) ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ให้เสียงบรรยายโดย เบเนดิคท์ คัมเบอร์แบทช์ นักแสดงชาวอังกฤษ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อปี 2560 และได้รับความนิยมอย่างมากทั่วยุโรป
หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เริ่มเป็นที่รู้จักในระดับสากลในปี 2509 เมื่อท่านเดินทางไปยังตะวันตกเพื่อเรียกร้องการยุติสงครามเวียดนาม
ท่านได้สานมิตรภาพกับ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และมีบทบาทสำคัญในการทำให้ดร.คิง นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง ตัดสินใจพูดต่อต้านสงคราม
ในปี 2510 ดร.คิงเสนอชื่อ ติช นัท ฮันห์ เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยยกย่องท่านว่าเป็น “ผู้เผยแพร่สันติภาพและอหิงสา”
การรณรงค์เพื่อสันติภาพทำให้ติช นัท ฮันห์ ต้องลี้ภัยจากเวียดนามเป็นเวลา 39 ปี โดยท่านเพิ่งได้เดินทางกลับบ้านเกิดในปี 2561 และใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายในวัดที่ท่านเคยจำพรรษามาตั้งแต่แรก
ผลงานของท่านได้รับการสานต่อโดยชุมชนหมู่บ้านพลัมแห่งพุทธศาสนิกสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Plum Village Community of Engaged Buddhism) ซึ่งเป็นเครือข่ายรากหญ้าทั่วโลกที่ท่านก่อตั้งขึ้น
ประกอบด้วยกลุ่มเจริญสติภาวนาท้องถิ่นกว่า 1,000 กลุ่ม ศูนย์สถานปฏิบัติธรรมหลายสิบแห่ง และวัดจำนวนสิบแห่งในสหรัฐ ยุโรปและเอเชีย
ศูนย์ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ มีพระภิกษุและแม่ชีกว่า 700 รูปประจำอยู่
นับเป็นนิกายของพุทธศาสนาที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลกตะวันตก และยังต้อนรับผู้มาเยือนกว่าหมื่นคนในแต่ละปี
คณะสงฆ์และฆราวาสที่นับถือหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ยังคงนำหลักคำสอนของท่านเกี่ยวกับการเจริญสติ การสร้างสันติภาพ การพูดคุยด้วยเมตตาธรรมไปใช้ในโรงเรียน สถานที่ทำงาน ธุรกิจต่างๆ และในเรือนจำ
สำหรับหนังสือเล่มสุดท้ายของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ มีชื่อว่า เซนกับศิลปะแห่งการกอบกู้โลก (Zen and the Art of Saving the Planet) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์ เมื่อเดือนตุลาคม 2564
- สธ. ผนึกกำลัง แพทย์แผนไทย ทั่วประเทศ ดูแลผู้ป่วย โควิด-19 และผู้เคยติดเชื้อ
- หนูน้อยสั่งเบอร์เกอร์ เปิดมาอึ้ง ไร้เงาหมู ร้านดังขอโทษจัดหนักให้ใหม่
- เปิดประวัติ พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เจ้าของหนังสือ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ