ข่าวข่าวภูมิภาคเศรษฐกิจ

รมว. กษ. สั่ง กรมปศุสัตว์ รายงาน ข้อเท็จจริงให้รับทราบโดยทั่วกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว. กษ.) สั่งการให้ กรมปศุสัตว์ ทำการรายงานข้อเท็จจริงให้รับทราบ และหากพบสุกรป่วยให้รีบแจ้งทันที

(14 ม.ค. 2565) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีตรวจพบเชื้อโรค African Swine Fever หรือ ASF ในสุกร (อหิวาต์แอฟริกาในสุกร) จากการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวสัมผัส (surface swab) ที่โรงฆ่าแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ว่า กรณีนี้ได้สั่งการให้ กรมปศุสัตว์ รายงานข้อเท็จจริงการปฏิบัติงานโดยละเอียดตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการมาตรการตามมาตรการป้องกันโรค ASF มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยสามารถปลอดเชื้อ ASF มานานกว่า 3 ปี ในขณะที่ประเทศอื่นพบว่ามีการระบาดหนัก

Advertisements

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า “ขอย้ำว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราป้องกันอย่างดีที่สุด เพราะหากเราไม่ดำเนินการป้องกันแต่แรก จะเกิดการระบาดทั้งประเทศมากกว่านี้ แต่เมื่อมีการตรวจพบเชื้อ ก็ได้เรียกประชุมด่วนและไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยกรมปศุสัตว์จะแจ้งไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties; OIE) ต่อไป และขอยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่ได้ปกปิด เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่ปิดบัง ไม่มีใครอยากให้พี่น้องประชาชนบริโภคหมูแพง ไม่อยากให้ผู้เลี้ยงหมูขาดทุน แต่เมื่อมีจุดที่บกพร่อง ต้องดำเนินการตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขณะนี้กำลังให้กรมปศุสัตว์สรุปตัวเลข ข้อมูลเบื้องต้นได้รับรายงานว่าหมูหายไป 13% จึงมีมาตรการระยะสั้นห้ามส่งออกในช่วงเวลานี้ อีกทั้งมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีอธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุว่าไม่เคยรับหนังสือรายงานการพบเชื้อ ASF เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัด”

รมว.เกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินที่ผ่านมานั้น ได้นำไปดำเนินการในเรื่องของเครื่องมือป้องกันและทำลายเชื้อโรค ย่าฆ่าเชื้อ รวมถึงเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ชุดตรวจ สำหรับเงินชดเชยเยียวยาของสุกรที่อยู่ในข่ายที่มีความเสี่ยงของการติดโรค จะดำเนินการทำลายก่อนเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค โดยกระทรวงเกษตรฯ จะจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรรายเล็กและรายย่อย เนื่องจากเป็นการดูแลผู้เลี้ยงสุกรที่ต้นทุนน้อย และไม่มีความพร้อมในการดูแลฟาร์ม

ท้ายนี้ ขอความร่วมมือพี่น้องผู้เลี้ยงสุกรในการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมโรคให้สงบได้โดยเร็ว หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัย หรือพบสุกรป่วยตายผิดปกติ หรือสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225 -6888 หรือแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

 

แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย

Advertisements

สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button