ไขคำตอบ ค่าเหยียบแผ่นดิน คืออะไร หลังรัฐไทยจ่อเก็บคนต่างชาติ 300 บาท
ไขคำตอบ ค่าเหยียบแผ่นดิน คืออะไร หลังรัฐไทยจ่อเก็บคนต่างชาติ 300 บาท
เป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์อย่างมาก หลังจากที่ Thaiger นำเสนอข่าว ค่าเหยียบแผ่นดิน จนมีผู้อ่านสอบถามเข้ามาเพิ่มเติมว่า ค่าเหยียบแผ่นดิน คืออะไร
ต้องย้อนกลับไปที่ เช้าวันนี้ (12 ม.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ช่วงเดือนเมษายน วางแผนจะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย 300 บาทต่อคน หรือเรียกกันว่าค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อนำเงินที่ได้รับไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในไทย และทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต ก็จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือ ค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท เป็นต้น โดยวางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินกรณีเดินทางทางอากาศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการเรียกเก็บจากการเดินทางทางบก
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า จะมีชาวต่างชาติมาเที่ยวไทยอยู่ที่ประมาณ 5-15 ล้านคน ดังนั้นจะทำให้ไทยมีรายได้จากการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินที่ประมาณ 1 พัน 5 ร้อยล้าน ถึง 4 พัน 5 ร้อยล้านบาท
จากข้อมูล พอสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ค่าเหยียบแผ่นดิน คือ ค่าที่เปรียบเสมือนค่าบัตรผ่านเข้าประเทศไทย เป็นเงินที่จะต้องจ่ายเพิ่มจากค่าใช้จ่ายปกติ และอาจจะถูกเก็บบวกเพิ่มไปกับค่าตั๋วโดยสาร แต่ความชัดเจนต้องรอประกาศอีกครั้ง และเงินที่จ่ายไป จะนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อีกทางก็คือทำประกันให้นักท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวอาจจะได้กลับมาในรูปเงินชดเชยกรณีเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต
ตามไทม์ไลน์ ค่าเก็บแผ่นดิน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ถูกเก็บจะเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้าไทยมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เป็นต้นไป คนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยก่อนหน้านี้ยังไม่ต้องเสีย
อย่างไรก็ดี ไม่มีรายงานว่าจะเก็บค่าเหยียบแผ่นดินชาวไทยที่เดินทางเข้าประเทศไทยจากต่างประเทศแต่อย่างใด
จริง ๆ แล้ว แนวคิดเรื่อง ค่าเหยียบแผ่นดิน ไม่ใช่เรื่องใหม่ อ้างอิงจากรายงานข่าวของ วอยซ์ทีวี ตั้งแต่ปี 2559 ว่า นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ในสมัยนั้น มีแนวคิดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ คนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 360 บาทต่อคนต่อครั้ง เพื่อนำเงินไปใช้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
ในตอนนั้นมีข้อทักท้วงจากหลายฝ่ายจนการเก็บเงินดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง