‘วันชัย’ เดือด! ถาม ก.วัฒนธรรม อยู่ไหน? ปล่อยแม่ค้าพูดหยาบ-แต่งตัวโป๊
วันชัย เดือดถามหากระทรวงวัฒนธรรม ปล่อยแม่ค้าพูดหยาบและแต่งตัวโป๊เกลื่อน ด้าน อิทธิพล เผยเฝ้าดูแลไม่ให้เยาวชนเลียนแบบ
นาย วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งกระทู้ถามนาย อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เรื่องการใช้ภาษาไทย และการแต่งกายในการขายสินค้า ภายในการประชุมวุฒิสภา โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถาม
โดยนาย วันชัย ได้ระบุว่า เรื่องนี้กำลังระบาดในสังคมไทยมาเป็นปีๆ จนรู้สึกว่าประเทศไทยยังมีกระทรวงวัฒนธรรมอยู่หรือไม่ ยังมี รมว.วัฒนธรรมกำกับกระทรวงอยู่หรือไม่ และยังมีข้าราชการที่ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ภาษาไทย และการแต่งกายอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ เพราะปล่อยให้มีการไลฟ์สดขายของใช้ถ้อยคำหยาบคายปรากฎในสื่อโซเชียล และขายสินค้าออนไลน์
จนกลายเป็นเน็ตไอดอล หรือแม้กระทั่งเป็นภาพโป๊ขายสินค้า ขายเครป ขายส้มตำ ขายก๋วยเตี๋ยวโชว์หน้าอก หรือเปิดแก้มก้น จนมีคนไปซื้อของร้านเหล่านี้มากมาย
ภาษาที่ใช้ไม่สุภาพกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย แม้แต่คำร่วมเพศ และสารพัดสัตว์อยู่ในการขายของเน็ตไอดอล โดยเฉพาะคำว่า “โกล์ด ฟาวเวอร์” พูดติดปากจนปกติ รวมถึงการชุมนุมของกลุ่มวัยรุ่นตอนนี้ ที่สมัยก่อนการชุมนุมไม่มีคำหยาบคาย แต่ขณะนี้เป็นเรื่องปกติที่ลามมาจากคนเหล่านี้ ทำให้เด็กเยาวชนในสังคมรู้สึกว่าต้องหยาบ ถ่อย สถุน จึงจะเด่น ดัง และรวย
“กระทรวงวัฒนธรรมไปนั่งกรรมฐานอยู่ที่ไหน เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงที่ต้องรณรงค์ให้คนใช้ภาษาไทยสุภาพเรียบร้อย ผมไม่เคยเห็นสัญญาณจากกระทรวงฯ ว่าการกระทำแบบนี้ไม่ควรเอาเป็นตัวอย่าง ศูนย์เฝ้าระวังของกระทรวงฯไประวังอะไร ยังมีอยู่หรือไม่ จึงอยากฟังสัญญาณชัดๆ จากเจ้ากระทรวงว่าจะมีมาตรการจัดการกับคนที่ใช้ภาษา และแต่งตัวขายสินค้าที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้อย่างไร และจะส่งสัญญาณไปยังบุคคลเหล่านี้อย่างไร ทำอะไรได้บ้าง และจะรณรงค์ให้คนกลับมาตื่นตัวใช้ภาษาไทยแบบสุภาพเรียบร้อยหรือไม่ อย่างไร” นายวันชัย กล่าว
ซึ่งในระหว่างการอภิปราย นายวันชัย ได้เปิดคลิปวิดีโอของ น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ พิมรี่พาย ยูทูบเบอร์ที่มีชื่อเสียงในการขายของออนไลน์กำลังไลฟ์สดขายของ พร้อมกับพูดระหว่างการไลฟ์ด้วยถ้อยคำไม่สุภาพด้วย
ขณะที่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ชี้แจงว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีความห่วงใยแนวโน้มการใช้ภาษา และการประกอบธุรกิจออนไลน์ ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติในการจรรโลงไว้ซึ่งวัฒนธรรม เราไม่นิ่งนอนใจ โดยเน้นไปที่วัฒนธรรมจังหวัดในการเฝ้าระวัง หยุดยั้ง ไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เราดำเนินการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง พร้อมประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นเครือข่ายทำงานร่วมกัน
ซึ่งกรณีที่ปรากฎพบว่าหลายกรณีเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จ การกระทำที่เป็นการหลอกลวง ซึ่งมีเจ้าทุกข์ร้องเรียน กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการตามกฎหมายที่เราดูแลอยู่ ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงเราก็ชี้เป้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ส่วนการสื่อสารไปถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน เราใช้วิธีการให้เด็กสื่อกับเด็ก ผ่านสมาคมเยาวชนรักษาวัฒนธรรม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบ่มเพาะความสามารถพิเศษของเด็ก
“เราต้องหาน้ำดีสีขาวไปสู้กับสีดำ อย่างน้อยให้เจือจางจากดำเข้ม เป็นเทา จนเป็นขาว แต่จากที่สัมผัส เด็กและเยาวชนที่มีความสนใจด้านศิลปวัฒนธรรม จะไม่ผิดเพี้ยนไปตามบริบทของสังคมในปัจจุบัน ในเรื่องของพฤติกรรมเลียนแบบต่างๆ อย่างเด็กที่เรียนนาฏศิลป์แทบจะร้อยทั้งร้อย เขาจะไม่เออออไปตามเพื่อนที่ไปชุมนุมทางการเมือง หรือแม้แต่เรื่อง ของการโพสต์ รวมถึงการกดไลค์เขายังไม่กดเลย แม้จะเป็นเยาวชนส่วนที่ยังไม่มากพอ แต่เราก็ต้องดำเนินการต่อไปให้เห็นว่า เด็กที่ดีในสังคมก็ยังไม่ถูกชักจูงไปไหน” รมว.วัฒนธรรม กล่าว