ไม่มีหมวดหมู่

‘หมอธีระ’ ยกสองเหตุผล ไทย ป้องกัน โอมิครอน ยาก

หมอธีระ โพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับโควิด โอมิครอน ในไทย เชื่อป้องกันยาก แนะนำให้รัฐบาลทบทวนมาตรการเศรษฐกิจและท่องเที่ยว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กแสดงความเห็นถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่เป็นที่กังวลของหลายฝ่ายในขณะนี้

Advertisements

โดยหมอธีระบุว่า “ทะลุ 280 ล้านไปแล้ว เพิ่มขึ้นราว 200 ล้านคนนับจากวันเดียวกันในปีที่แล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 336,692 คน ตายเพิ่ม 2,914 คน รวมแล้วติดไปรวม 280,230,908 คน เสียชีวิตรวม 5,416,188 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย และตุรกี (วันคริสตมาสยังไม่มียอดรายงานหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศในยุโรป)

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.38 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 92.21

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 44.56 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 60.7

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก

Advertisements

สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 2,532 คน สูงเป็นอันดับ 26 ของโลก หากรวม ATK อีก 962 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 20 ของโลก ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย

อัพเดต Omicron

“Extraordinarily contagious” นี่คือคำที่ Anthony Fauci กล่าวผ่านสื่อเมื่อวานนี้ ย้ำว่า Omicron นั้นเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดง่ายมาก

“One of the problems is that that’s not going to be totally available to everyone until we get to January and there are still some issues now of people having trouble getting tested”

และปัญหาที่อเมริกากำลังประสบอยู่ตอนนี้คือ ปริมาณการตรวจคัดกรองโรคไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เฉกเช่นเดียวกับที่เราเห็นข่าวจากประเทศอื่น เช่น ในรัฐวิคตอเรียของออสเตรเลีย เป็นต้น

“when you have such a high volume of new infections, it might override a real diminution in severity”

สุดท้ายที่ Fauci ชี้ให้เห็นคือ การเน้นย้ำว่าการติดเชื้อ Omicron ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จะหักล้างผลเรื่องความรุนแรงที่ลดลง

แปลง่ายๆ คือ การระบาดของ Omicron ย่อมทำให้จำนวนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้โดยเฉลี่ยแล้วจะรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่จะทำให้จำนวนคนป่วยมากขึ้นได้

ในขณะเดียวกัน Omicron ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบสุขภาพอย่างชัดเจนแล้ว เช่น ในรัฐนิวยอร์ก ที่พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก

นอกจากนี้ผู้ป่วยเด็ก (อายุน้อยกว่า 18 ปี) ติดเชื้อจนต้องนอนรพ. เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า และราวครึ่งหนึ่งเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ตอกย้ำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลป้องกันลูกหลาน เพราะเป็นช่วงวัยที่ยังได้วัคซีนจำกัดหรือบางช่วงอายุก็ยังไม่มีวัคซีนให้ใช้

สำหรับไทยเรา

ด้วยสถานะปัจจุบันที่เราเห็น หากเข้าสู่ขาขึ้นของการระบาดระลอก Omicron อาจควบคุมป้องกันได้ลำบาก เหตุผลหลักคือ

หนึ่ง ระบบการตรวจคัดกรองโรคนั้นมีศักยภาพจำกัด ยากในการเข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง RT-PCR หรือแม้แต่ ATK ถึงราคาค่างวดจะลดลงมา แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็มีปัญหาด้านเศรษฐานะ อาจไม่สามารถซื้อหามาใช้อย่างเป็นกิจวัตรได้ นี่เป็นเรื่องที่ควรได้รับการดูแลโดยด่วน การตรวจคัดกรองโรคไม่ว่าจะ RT-PCR หรือ ATK ควรเป็นบริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ติดกฎเกณฑ์หยุมหยิม

สอง สมรรถนะของ Omicron แพร่เร็วมาก ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อในอดีต ดื้อต่อโมโนโคลนัลแอนติบอดี้หลายชนิดที่ใช้รักษา ติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น และสามารถติดในฐานประชากรวงกว้างทั้งที่ฉีดวัคซีน ไม่ฉีดวัคซีน รวมถึงที่ติดเชื้อมาก่อน

สิ่งที่พอทำได้ระดับบุคคลคือ การขันน็อตพฤติกรรมส่วนตัวของแต่ละคนเอง ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างคนอื่น งดเที่ยว งดปาร์ตี้สังสรรค์ สังเกตอาการตนเองหากไม่สบายคล้ายหวัดให้รีบตรวจโควิดแล้วแยกตัวจากคนใกล้ชิด

ในขณะที่รัฐนั้น ควรทบทวนนโยบายเรื่องเศรษฐกิจและท่องเที่ยว ขันน็อตระบบตรวจคัดกรองมาตรฐานและกักตัว 14 วันอย่างเคร่งครัด รวมถึงเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายสถานประกอบการที่ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่กำหนด โดยดูบทเรียนคลัสเตอร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ยุทธศาสตร์สู้ Omicron นั้น ประเมินแล้วคงหนีไม่พ้นเรื่อง “ดูแลตนเอง, ป้องกันเด็กๆ, ตรวจคัดกรองโรคให้เร็วและมาก, และชะลอความเสี่ยงจากนโยบายท่องเที่ยว” ครับด้วยรักและห่วงใย”

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button