เตือนภัยช่วงหยุดยาว ระวังข่าวปลอม เว็บปลอม หลอกเงิน ล้วงข้อมูลส่วนตัว
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยช่วงเทศกาลหยุดยาว อาจมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างข่าวปลอม หรือเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกเอาทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนตัวของประชาชน
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยห้วงเทศกาลหยุดยาว อาจมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างข่าวปลอมหรือจัดเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกเอาทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนตัวของประชาชน
เนื่องด้วยปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ประชาชนเข้าถึงโลกออนไลน์รวมถึง Application ต่างๆ ประกอบกับห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนใช้บริการผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น
โดยเหล่ามิจฉาชีพก็ได้อาศัยช่องว่างดังกล่าวสร้างกลอุบายในการหลอกลวงข้อมูลส่วนตัว หลอกให้โอนเงิน ดังกรณีในห้วงที่ผ่านจะพบว่ามีข่าวปลอมหลายเรื่องเกี่ยวกับการจัดโปรโมชั่นของขวัญสำหรับห้วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ อาทิ รัฐบาลโอน 1,000 บาท ให้บัตรคนจนเป็นของขวัญขวัญปีใหม่กดจากตู้ใช้ได้ทันที , กรณีปรับเบี้ยยังชีพแจกเพิ่ม 2,000 บาท เป็นต้น
โดยมิจฉาชีพสร้าง Link หลอกลวงให้คลิกเข้าไปเพื่อลวงเอาข้อมูลส่วนตัว หรือในบางครั้งก็ทำการติดต่อให้โอนเงินสำหรับค่าดำเนินการไปก่อน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายในวงกว้างให้กับประชาชนก็เป็นได้
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมาโดยตลอด จึงได้สั่งการให้ บช.น.,ภ1-9,บช.ก.,บช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งดำเนินการสืบสวน ปราบปรามจับกุมและขยายผล ผู้กระทำความผิดในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งเร่งทำการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงพิษภัยบนโลกออนไลน์พร้อมแนวทางการป้องกันให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป
การกระทำลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกันอยู่แล้วและยังเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงเตรียมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการโอนเงิน บันทึกการสนทนา รายการเดินบัญชีธนาคาร เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดี
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงผ่าน Social Media Platform ต่างๆ ทาง E-Mail หรือทาง SMS ดังนี้
1. เมื่อได้รับข้อความหรือพบข่าวใดๆ ที่น่าสงสัย ให้ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชน ให้ชัดเจนเสียก่อน
2. ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลอกออนไลน์ หลีกเลี่ยงการกดเข้าลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ
3. หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้หรือมีผลตอบแทนสูง ง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
4. หากรู้ตัวว่าถูกหลอก ให้เตรียมบันทึกการสนทนา สลิปการโอนเงิน เอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อไป นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรทวงเงินอัยการ รัวด่าเป็นชุด บอกตำรวจหมารับใช้
- คุยอย่างมิตร กับพี่มิจฉาชีพ สาวปั่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลงTikTok ทำชาวเน็ตขำไม่ไหว
- แฉกลโกงใหม่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตัดต่อคลิปเปลี่ยนเสียง รองโฆษก ตร. หลอกเอาเงิน