ราชกิจจาฯ ไฟเขียวอนุญาต ปชช. ดื่มแอลกอฮอล์ ในร้านได้ถึงตี 1 ฉลองขึ้นปีใหม่
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ อนุญาตให้ประชาชน ดื่มแอลกอฮอล์ ในคืน ฉลองขึ้นปีใหม่ ได้ถึงตีหนึ่ง หลังสถานการณ์โควิดไทยเริ่มเบาลง
เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 40) โดยเนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น
แนวโน้มของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยได้คลี่คลายลงตามลำดับ ด้วยการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีระดับคงที่และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้รับรายงานจากฝ่ายสาธารณสุขว่า สถานการณ์ด้านยาและเวชภัณฑ์ในปัจจุบัน ตลอดจนจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่เพียงพอ
อีกทั้งการดำเนินการตามแผนให้บริการวัคซีนที่คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในประเทศครบจำนวนหนึ่งร้อยล้านโดสได้ภายในปีนี้ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรงเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด ประกอบกับในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นห้วงเวลาสำคัญที่ประชาชนจะได้มีการจัดงานตามประเพณีท้องถิ่นและทางศาสนา งานรื่นเริงตามประเพณี งานเลี้ยง การพบปะสังสรรค์ การท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการรวมกลุ่มบุคคลจำนวนมากเพื่อจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงมีนโยบายเพื่อการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรค ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการ ผู้รับผิดชอบจัดงาน ผู้ร่วมงาน และประชาชนทั่วไปต้องร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
ซึ่งรัฐบาลจะได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ซึ่งอาจจะได้มีการปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสมต่อไป เพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อาศัยอำนาจตามความในมาตราแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์และกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นไปตามแผนการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
ข้อ 2 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ได้แก่การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้น
ภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปในส่วนของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาเพื่อดำเนินมาตรการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นอกสถานที่ตั้งหน่วยงานตามความเหมาะสม และเพื่อการเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรคภายหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงให้ดำเนินมาตรการนี้ต่อเนื่องไปอีกเป็นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565
ข้อ 3 การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการทั่วราชอาณาจักรเป็นกรณีเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี พิจารณากำหนดให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ดังต่อไปนี้ สามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อเทศกาลปีใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการความปลอดภัยที่รัฐบาลได้ยกระดับขึ้นเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคเป็นการเฉพาะ
(1) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วราชอาณาจักร เฉพาะที่ร้านที่มีพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดให้บริการเพื่อการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตามเวลาเปิดทำการปกติในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 จนถึงเวลา 01.00 น.ของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565
(2) สถานที่จัดกิจกรรมเทศกาลปีใหม่ที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลเป็นจำนวนมากให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดงาน จัดให้มีการปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน ดังนี้
การจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคล รวมจำนวนไม่เกินหนึ่งพันคน ให้ผู้จัดงานหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประสานส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยให้เข้าร่วมได้เฉพาะผู้ที่แสดงหลักฐานว่าบุคคลนั้นได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด
การจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคล รวมจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคนขึ้นไปให้ผู้จัดงานหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประสานส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยให้เข้าร่วมได้เฉพาะผู้ที่แสดงหลักฐานว่าบุคคลนั้นได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด
ควบคู่กับหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด – 19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม โดยชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อSAR-COV-2 (เชื้อก่อโรค COVD – 19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (ชุดตรวจ ATK)
(3) สถานที่หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาด ให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ดำเนินมาตรการความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการได้กำหนดยกระดับขึ้นเป็นการเฉพาะด้วยให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอดส่อง เฝ้าระวัง และติดตามการดำเนินมาตรการของผู้ประกอบการและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่และการจัดงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่รัฐบาลได้กำหนดยกระดับขึ้น
หากผู้ร่วมงานหรือประชาชนพบว่าการจัดงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ผ่อนคลายให้สามารถดำเนินการได้นี้ มิได้ปฏิบัติตามหรือย่อหย่อนการดำเนินการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่ทางราชการกำหนดซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อน สามารถแจ้งข้อมูลเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตักเตือน และให้คำแนะนำเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายต่อไปได้
ข้อ 4 การปรับปรุงการกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ในการจัดการคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การควบคุมและการป้องกันมิให้เกิดการระบาดของโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดในปัจจุบันและโยบายการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลให้ยกเลิกความในข้อ 1 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 3 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ข้อ 1 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และข้อ 7 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2564
และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “การกำหนดประเภทของผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหลักเกณฑ์การดำเนินการในสถานที่กักกันที่ทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ให้เป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนด โดยแบ่งตามประเภทของผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุขตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล
(2) ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวหรือกิจกรรมอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล
(3) ผู้มีเหตุยกเว้นที่นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด อนุญาต หรือเชิญให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามความจำเป็น หรือบุคคลในหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศซึ่งมาปฏิบัติงานในราชอาณาจักร ตลอดจนคู่สมรสบิดามารดา หรือบุตรของบุคคลดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตตามความจำเป็น
(4) ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น แต่เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยเร็ว
(5) ผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะซึ่งจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจ และมีกำหนดเวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรชัดเจน
(6) ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคในสถานที่กักกันที่ทางราชการกำหนด”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
- เฮ! ศบค. อนุญาต 77 จังหวัด ดื่มแอลกอฮอลล์ ได้ถึงตีหนึ่งฉลอง ปีใหม่
- ‘อนุทิน’ ย้ำ ให้ ดื่มสุรา แค่วันเดียว คือคืน สิ้นปี เท่านั้น
- ‘ธนกร’ เชิญ ปชช. ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เผยนายกฯห่วงกินเลี้ยงปีใหม่