กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำ มาตรการช่วยเหลือธุรกิจ เป็นของขวัญปีใหม่ปี 2565
กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการจัดทำ มาตรการช่วยเหลือธุรกิจ 5 ประการ (สินเชื่อ, มหกรรมสินค้าโรงงาน และอื่น ๆ) เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่รับปี 2565
(16 ธ.ค. 2564) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำ มาตรการช่วยเหลือธุรกิจ มอบของขวัญให้ประชาชนและผู้ประกอบการปี 65 เตรียมจัดงานจำหน่ายสินค้าราคาโรงงานและงานจำหน่ายสินค้ารถยนต์ราคาพิเศษในพื้นที่ต่างจังหวัด รวบรวมสินค้าอุปโภคบริโภคมาจำหน่าย ช่วยลดค่าครองชีพช่วยเหลือประชาชน ระดมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเหลือผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องกิจการ รักษาการจ้างงาน พร้อมสนับสนุนเครื่องมือทางการเกษตรแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ทุกกระทรวงจัดทำแผนงานโครงการมอบเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยทุกคน กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดของขวัญปีใหม่ 2565 เพื่อมอบให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ด้วยการจัดมหกรรมจำหน่ายสินค้าราคาโรงงานโดยคัดสรรสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยลดค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยมีทั้งสินค้าจากศรีไทยซุปเปอร์แวร์ สินค้าจากผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย สินค้าเอสเอ็มอีและโอทอป สินค้าชุมชนจากโครงการ Farm to Factory
โดยจะจัดระหว่างวันที่ 23-24 ธันวาคม 2564 ณ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี และมหกรรมแสดงและจำหน่ายสินค้า DIPROM MOTOR OUTLET จำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องจักรกลการเกษตรในราคาพิเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระให้ผู้บริโภค โดยจะจัดระหว่างวันที่ 4-13 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จังหวัดลำปาง
พร้อมเสิร์ฟสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กว่า 5 โครงการ จากสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ได้แก่ สินเชื่อเพิ่มศักยภาพSME สำหรับ SME ผู้ผลิตให้บริการค้าปลีกค้าส่งในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG (Bio Circular Green) กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 18 เดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา คาดว่าจะเปิดรับคำขอสินเชื่อได้ในช่วงเดือนมกราคม 2565
• สินเชื่อ สร้างโอกาส เสริมสภาพคล่อง SME
สำหรับ SME ผู้ผลิตให้บริการค้าปลีกหรือค้าส่ง เพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเงินทุนแก่เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพที่เป็นนิติบุคคลและเป็นกลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ให้นำเงินทุนไปใช้ในการปรับปรุง ลงทุนในกิจการ ฟื้นฟู กิจการในปัจจุบัน หรือเริ่มต้นกิจการใหม่ กรอบวงเงิน 500 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายตั้งแต่ 1 แสนบาทและสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา คาดว่าจะเปิดรับคำขอสินเชื่อได้ในช่วงเดือนมกราคม 2565
• สินเชื่อเพื่อฟื้นฟู SME
เพื่อเป็นเงินทุนช่วยเหลือให้กับ SME กลุ่มเดิมที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่มีภาระหนี้เงินต้นวงเงินกู้สินเชื่อระยะยาว (Term Loan) คงเหลืออยู่กับกองทุนได้นำเงินทุนไปใช้ในการปรับปรุง ลงทุน เงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ หรือฟื้นฟูกิจการในปัจจุบันหรือเริ่มต้นกิจการใหม่ โดยผู้รับสินเชื่อต้องเป็นลูกหนี้ในโครงการสินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ
หรือโครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs–คนตัวเล็ก หรือโครงการสินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน กรอบวงเงิน 500 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อรวมกับภาระหนี้เงินต้นคงเหลือและดอกเบี้ยคงค้างของสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ต้องไม่เกินจากวงเงินสินเชื่อ ที่ได้รับอนุมัติเดิมระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา คาดว่าจะเปิดรับคำขอสินเชื่อได้ในช่วงเดือนมกราคม 2565
• สินเชื่อพิเศษดีพร้อมเปย์ (DIProm Pay)
สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรอบวงเงิน 30 ล้านบาท (ยื่นคำขอภายใน 30 เมษายน 2565 หรือจนกว่าจะครบจำนวนวงเงินโครงการ ทั้งนี้ขอสงวนสิทธิ์ระยะเวลาสิ้นสุดโครงการก่อนกำหนด หากมีการอนุมัติสินเชื่อเต็มวงเงินแล้ว) โดยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันได เริ่มต้นปีแรก 3% ปีที่สอง 4% และ ปีที่สาม 5% สนใจสามารถติดต่อได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
• สินเชื่อ SMEs Happy
สำหรับลูกค้าเดิมของ ธพว. และผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป เพื่อขยายกิจการ เสริมสภาพ รักษาการจ้างงาน และฟื้นฟูกิจการหลังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เริ่มคลี่คลาย โดยแบ่งเป็น 3 โครงการได้แก่ โครงการ SMEs D Plus วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4.5 ต่อปี โครงการSMEs D เพื่อการลงทุน วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5.5 ต่อปี และโครงการ SMEs D เสริมสภาพคล่อง วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 6 ต่อปี วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท โดยให้วงเงินกู้ลูกค้าเดิมของ ธพว. สูงสุด 25 ล้านบาทต่อราย ด้านลูกค้าใหม่สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย โดยผู้กู้จะได้รับการยกเว้นค่าประเมินราคาหลักประกันเมื่อยื่นกู้ในระหว่างวันที่ 3 มกราคม – 31 มีนาคม 2565 โดยคาดว่าโครงการนี้จะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 2,000 ราย สร้างมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 60,000 ล้านบาท และรักษาการจ้างงานกว่า 10,000 คน สนใจสามารถติดต่อได้ที่ SME D Bank ทุกสาขาทั่วประเทศ
นอกจากของขวัญข้างต้นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมของขวัญอีก 3 กล่อง เพื่อมอบให้แก่ผู้ประกอบการ ประชาชนและเกษตรกร ประกอบด้วย
1.การอำนวยความสะดวก ลดต้นทุนของผู้ประกอบการ เปิดให้ใช้บริการงานอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% การยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการ การยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักร
ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถลดค่าใช้จ่าย และมีสภาพคล่องในการประกอบการเพิ่มขึ้น รวมทั้งลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมได้อย่างมีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อราชการ ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ กว่า 59,796 โรงงานได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี
2. ยกระดับผู้ประกอบการ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เพื่อเป็นเกณฑ์สำหรับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยปัจจุบัน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ไปแล้วจำนวน 39 มาตรฐาน แจกต้นแบบผลิตภัณฑ์พัฒนาจากกัญชง สู่การใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ให้เกษตรกร ผู้สนใจ หรือผู้ประกอบการสามารถรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากกัญชงกว่า 28 ผลิตภัณฑ์ได้ฟรี เพื่อนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบมาต่อยอดเชิงธุรกิจต่อไปได้
พร้อมทั้งบริการให้คำปรึกษาแนะนำและออกแบบรรจุภัณฑ์ ฉลาก สติกเกอร์ พร้อมทั้งจัดทำต้นแบบให้ผู้ประกอบการฟรี มอบต้นแบบเครื่องมือแพทย์ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สู่การใช้งานจริงในกลุ่มสถานพยาบาลระดับต่าง ๆ ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนการเตรียมความพร้อมสู่โรงงานการผลิต BCG Model เพื่อรองรับตลาด New Normal จำนวน 50 โรงงาน การเปิดคลินิคให้คำปรึกษาแนะนำด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่วิสาหกิจชุมชน เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในสาขาแฟชั่น ของใช้ของตกแต่งบ้าน สมุนไพร และอาหารและเครื่องดื่ม
รวมถึงบริการออกแบบสเก็ตภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อการพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแจกซอฟแวร์สำหรับเอสเอ็มอีไทย จำนวน 34 โปรแกรม ให้ใช้ฟรี 6 เดือน เป็นโปรแกรมด้านบัญชี การเงิน ด้านการตลาดออนไลน์ ด้านการบริหารจัดการด้านการบริหารบุคคล ด้านการสื่อสาร และด้านบริการลูกค้าสัมพันธ์
3. ดูแลเกษตรกรและประชาชน ได้แก่ โครงการเหมืองแร่ปลอดภัยห่วงใยประชาชน ปีที่ 5 โดยจัดกิจกรรมดูแลสุขภาพของประชาชนโดยรอบสถานประกอบการและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง การติดตั้ง QR Code หน้าโรงงาน เปิดเผยข้อมูลพื้นฐานของโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคประชาชน/ชุมชน เกิดความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม
ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่มช่องและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ และการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสถานประกอบการ การแสดงคิวอาร์โค้ด (QR Code) คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตตามมาตรฐานเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและร้องเรียนได้ว่าสินค้าดีมีคุณภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ การจัดหาเครื่องสางใบอ้อย จำนวน 288 เครื่องให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ยืมใช้ เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการตัดอ้อยสด รวมถึงช่วยลดมลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
นายสุริยะ ได้กล่าวว่า “ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังต้องพึงระวังเรื่องโรคระบาดอยู่ แต่ปัญหาเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจยังเป็นเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญ ซึ่งโครงการฯ ทั้งหมดนี้ เป็นของขวัญที่กระทรวงอุตสาหกรรม รวบรวมมาให้ประชาชนเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ในปี 2565 นี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ลดภาระ และเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชนและผู้ประกอบการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่อง สร้างมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และช่วยรักษาการจ้างงาน โดยหวังว่าทุกๆ กิจการและสถานประกอบการจะสามารถดำเนินไปได้ปกติต่อไป”
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ