กฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดช่อง ผู้ต้องขังขอศาลกำหนดโทษเบาลงได้
กรมราชทัณฑ์ เผย ราชกิจจาฯ ประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดช่อง “ผู้ต้องขังคดียาเสพติด” ร้องศาลขอกำหนดโทษใหม่ให้เบาลงได้
จากกรณีที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และประมวลกฎหมายยาเสพติด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 โดยประมวลกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา
สาระสำคัญ คือ มุ่งเน้นสืบสวนหาตัวหัวหน้าผู้สั่งการและยึดทรัพย์ตัดวงจรเครือข่ายยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการกำหนดอัตราโทษใหม่ในบางฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดวัตถุออกฤทธิ์ และสารระเหย ให้ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำผิด คำนึงถึงพฤติการณ์ ความร้ายแรง และจะมีการนำพฤติการณ์การกระทำความผิดมาพิจารณาอัตราโทษแทนการใช้บทสันนิษฐาน ซึ่งบางฐานความผิดจะมีกำหนดโทษลดลง อันเป็นคุณต่อผู้กระทำผิด
ส่วนในกรณีคดีถึงที่สุดจะทำให้ผู้ต้องขังที่มีโทษตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่บัญญัติในกฎหมายฉบับใหม่ อาจยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิจารณากำหนดโทษใหม่ได้
เกี่ยวกับประเด็นประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่นี้ ล่าสุด (10 ธ.ค.64) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ ได้มีการสำรวจผู้ต้องขังในคดียาเสพติดที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ พร้อมช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับทราบถึงการยื่นคำร้องขอกำหนดโทษใหม่มาแล้วล่วงหน้า รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องดังกล่าว ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้นโยบายเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมในการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายใหม่บัญญัติ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2564) กรมราชทัณฑ์รับหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขัง 289,332 คนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด 237,763 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 82.18 ของผู้ต้องขังทั้งหมด และเป็นนักโทษเด็ดขาดในคดียาเสพติดที่คดีถึงที่สุดแล้ว จำนวน 196,611 คน
ทั้งนี้ การยื่นคำร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงกำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดนั้น เป็นการพิจารณาคำร้องโดยดุลยพินิจของศาลที่พิจารณาพิพากษาคดี จึงไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ต้องขังรายใดจะได้รับการกำหนดโทษหรือไม่ เพียงใด หรือในห้วงเวลาใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล จำนวนคดี และลักษณะความผิดที่ได้กระทำตามแต่กรณี
อย่างไรก็ตาม หากผู้ต้องขังหรือญาติผู้ต้องขังรายใด ต้องการสอบถามรายละเอียดการยื่นคำร้อง สามารถติดต่อได้ที่เรือนจำและทัณฑสถานที่ถูกควบคุมตัวอยู่ หรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดี โดยค้นหาช่องทางการติดต่อเรือนจำและทัณฑสถานได้ที่ Line Official Account กรมราชทัณฑ์ : @thaidoc
- ครม. เคาะงบกลาง 3.8 พันล้าน ให้กรมราชทัณฑ์ ใช้ค่าหนี้ เกรงผลต่อภาพลักษณ์
- กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยยอด โควิดเรือนจำ 19/5/64 เพิ่ม 1,117 ราย
- iLaw แฉ กรมราชทัณฑ์ พบผู้ป่วย โควิด ตั้งแต่ 29 เมษายน