เว็บ ราชกิจจาฯ เผยแพร่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ล้มล้างสถาบัน กรณีชุมนุม 10 ส.ค. 63
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับเต็มกรณีชุมนุม 10 ส.ค. 63 ที่ศาลตัดสินให้เป็นพฤติกรรมเข้าข่ายล้มล้างสถาบัน
เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 19/2564 เรื่องพิจารณาที่ 19/2563 ของวันที่ 10 เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2564 ระหว่าง นายณฐพร โตประยูร ผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง
ซึ่งประกอบไปด้วย นายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1 นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ถูกร้องที่ 4 นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ถูกร้องที่ 5 นางสาวสิริพัชระ จึงธีรพานิช ผู้ถูกร้องที่ 6 นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ถูกร้องที่ 7 และนางสาวอาทิตยา พรพรม ผู้ถูกร้องที่ 8
นาย ณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง สรุปได้ดังนี้
ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า คณะบุคคลประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กลุ่มแนวร่วมนิสิตมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มเสรีเทยพลัส ได้ใช้สถานที่ต่างๆ ในการจัดเวทีชุมนุม
อันเป็นการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และก่อให้เกิดความแปลกแยก ปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
โดยเฉพาะผู้ถูกร้องทั้ง 8 คน ที่ปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในหลายเวที รวม 6 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2563
โดยผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เพื่อขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ผู้ร้องเห็นว่าอัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการใดๆ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำสั่งให้คณะบุคคลดังกล่าวเลิกการกระทำดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
ขณะที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบสรุปได้ว่า คำร้องและข้อกล่าวหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 49 คลุมเครือไม่ชัดแจ้งเนื่องจากไม่ปรากฏสภาพแห่งข้อหาที่ชัดเจนว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองอย่างไร ข้อเท็จจริงในคำร้องเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย ไม่บ่งชี้ว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพ หรือกระทำประการใดเป็นการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่อาจเข้าใจถึงสภาพแห่งการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา พร้อมยืนยันว่าข้อเรียกร้องทางการเมือง 3 ประการ และข้อเสนอ 10 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เป็นไปเพื่อส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พยานหลักฐาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่า คดีมีทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ปัญหาข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้แล้ว ส่วนปัญหาข้อกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้เองโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลมาให้ความเห็น จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2561 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง
สามารถอ่านประกาศฉบับเต็มได้ ที่นี่
- ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ วินิจฉัย รุ้ง ไมค์ ทนายอานนท์ ใช้เสรีภาพมุ่ง ‘ล้มล้างการปกครอง’
- ด่วน! เว็บศาลรัฐธรรมนูญถูกแฮก หลังวานนี้ วินิจฉัย 10 ข้อเรียกร้อง เข้าข่ายล้มล้างสถาบัน
- ‘ทนายอานนท์’ โพสต์ถาม หลังถูกศาล รธน. ตัดสินล้มล้างการปกครอง