ข่าวข่าวภูมิภาค

พลเอกประวิตร มอบหมาย ‘ดีป้า’ เร่งหากลไกขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม

“พลเอก ประวิตร” นำประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนัดแรก ปี 64 พร้อมมอบหมาย ‘ดีป้า’ เร่งหากลไกขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม

5 พฤศจิกายน 2564, กรุงเทพมหานคร “พลเอก ประวิตร” นำประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนัดแรก ประจำปี 2564 เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย การพิจารณามอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยแก่ 15 เมือง ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกว่า 16 ล้านคน เกิดโอกาสการลงทุนภาคเอกชนต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่กว่า 40,000 ล้านบาท อีกทั้งเห็นชอบ (ร่าง) แผนงานบูรณาการเมืองอัจฉริยะประเทศไทย พ.ศ. 2566-2670 พร้อมมอบหมาย ดีป้า เร่งดำเนินงานร่วมกับสำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานตามแผนงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และหากลไกขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม วอนทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศ เพราะเป็นวาระแห่งชาติ

Advertisements

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และผู้แทนจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ฯลฯ เข้าร่วมประชุมกันโดยพร้อมเพรียง ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านระบบออนไลน์

โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธาน ประกอบด้วยการพิจารณามอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยแก่ 15 ผู้พัฒนาเมืองที่ได้รับประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ได้แก่

1) สามย่านสมาร์ทซิตี้

2) ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ

3) เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์

Advertisements

4) แม่เมาะเมืองอัจฉริยะ

5) ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ

6) เมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4

7) โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบคลองผดุงกรุงเกษม

8) เมืองอัจฉริยะมักกะสันเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 9) การพัฒนาเมืองเก่าอย่างชาญฉลาด

10) เทศบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ ความเป็นเลิศที่ยั่งยืนสู่ชุมชน 11) เมืองศรีตรัง 12) ยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน 13) ฉะเชิงเทรา เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน

14) แสนสุขสมาร์ทซิตี้

และ 15) โครงการนครสวรรค์สมาร์ทซิตี้ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะและกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะจากบีโอไอ โดย 15 เมืองอัจฉริยะประเทศไทยจะช่วยให้เกิดโอกาสการลงทุนเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จากภาคเอกชน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 40,000 ล้านบาท และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไทยได้มากกว่า 16 ล้านคน

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานพื้นที่นำร่อง ประกอบด้วย พื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินกระทรวงคมนาคม กรุงเทพฯ โดย สนข. พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี โดย สนพ. จังหวัดภูเก็ต และ Thailand Digital Valley จังหวัดชลบุรี โดย ดีป้า การประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ 50 พื้นที่ทั่วประเทศ และการจัดกิจกรรมสานต่อความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) ผลการจัดงาน Thailand Smart City Week 2020 การจัดหลักสูตร The Fundamentals of Smart City รวมถึงการคัดเลือก 30 ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศเป็นนักส่งเสริมดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (The Smart City Ambassadors)

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนงานบูรณาการเมืองอัจฉริยะประเทศไทย พ.ศ. 2566-2670 ที่ ดีป้า เสนอเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนด้านงบประมาณสำหรับองค์กรปกครอง ทั้งระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงแผนงานโครงการและบูรณาการด้านงบประมาณสำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะ ลดความซ้ำซ้อน และทำให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร ได้มอบหมายให้ ดีป้า นำแผนงานบูรณาการเมืองอัจฉริยะประเทศไทยทำงานร่วมกับสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในแผนยุทธศาสตร์ชาติโดยเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานตามแผนงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมหากลไกขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม เร่งพัฒนากำลังคนอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการพัฒนาเมืองด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมาย และนำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ในที่สุด

“ขอสั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคัดเลือกโครงการที่โดดเด่นจาก 15 เมืองอัจฉริยะประเทศไทย เพื่อนำเสนอบนเวทีอาเซียนให้รับทราบ อีกทั้งจะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดของตนเองสู่เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ต่อไป สุดท้ายขอให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนและบริหารการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทุกกระทรวงต้องช่วยกันผลักดัน เพราะเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะ กระทรวงมหาดไทย ต้องร่วมมือกับ กระทรวงดิจิทัลฯ ในการพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นที่ให้มีความพร้อมรับการพัฒนาประเทศตามแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ” พลเอก ประวิตร กล่าว

ไทยเกอร์นิวส์

นำเสนออัปเดตข่าวสารบ้านเมือง ข่าวล่าสุด มั่นใจว่าคุณจะทันทุกสถานการณ์ ไม่ว่า สังคมเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง เรื่องร้อนออนไลน์ ดราม่าดารา อัปเดตบันเทิง ซีรีส์ หนัง เพลง ท่องเที่ยว กีฬา ตรวจหวย เลขเด็ด พร้อมเสิรฟ์ทุกเรื่องยาก ๆ ย่อยให้คุณเข้าใจง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button