ธปท. ชี้แจง หลังดราม่ายังไม่คืนเงิน บัตรเดบิต กรณี 1-17 ต.ค.
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำการชี้แจงหลังจากที่มีการร้องเรียนถึงการยังไม่ได้รับเงินคืนสำหรับผู้ใช้งาน บัตรเดบิต ในกรณีที่เกิดขึ้นในวันที่ 1-17 ต.ค
วันนี้ (25 ต.ค. 2564) – ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงค์ชาติ ได้ทำการชี้แจงหลังจากที่พบว่ามีการร้องเรียนถึงการยังไม่ได้รับเงินคืนสำหรับผู้ใช้งาน บัตรเดบิต ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีตัดเงินจากบัญชีเงินฝาก / ยอดบัตรเครดิต เมื่อวันที่ 1 – 17 ตุลาคม 2564
โดยทำการชี้แจงเป็นคำถาม – คำตอบ แต่ละประเด็นข้อสงสัย ซึ่งมีด้วยกันดังนี้
1. การคืนเงินเป็นกรณีไหนบ้าง และคืนอย่างไร?
โดยการคืนเงิน เป็นกรณีบัตรที่มีการใช้งานผิดปกติ โดยการสุ่มข้อมูลบัตรและนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีระบบให้ทำการยืนยันก่อนทำรายการ เช่น การใช้ One Time Password (OTP) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง 1–17 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา จำนวนรวม 10,700 ใบ
ประกอบด้วย บัตรเดบิตจำนวน 4,800 ใบ จำนวนเงิน 30 ล้านบาท ธนาคารได้ดำเนินการคืนเงินเข้าบัญชีของลูกค้าหมดแล้ว และบัตรเครดิต 5,900 ใบ จำนวน 100 ล้านบาท ได้ดำเนินการตั้งพักยอด และจะดำเนินการยกเลิกรายการ โดยลูกค้าไม่ต้องชำระเงินตามยอดเรียกเก็บที่ผิดปกติและไม่มีการคิดดอกเบี้ย
ส่วนการคืนหลังวันที่ 17 ต.ค. กรณีที่มีธุรกรรมผิดปกติทำรายการผ่านบัตรเดบิตออนไลน์โดยร้านค้าที่ไม่มีการยืนยันการทำรายการ เช่น การใช้ OTP เมื่อธนาคารตรวจสอบแล้วว่าลูกค้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำรายการ ธนาคารจะพิจารณาทำการคืนเงินภายใน 5 วันทำการเช่นเดียวกัน ส่วนกรณีธุรกรรมผิดปกติรูปแบบอื่น ๆ ธนาคารจะเร่งประสานกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรเดบิต (Card Scheme) และร้านค้าปลายทางโดยเร็ว
2. แล้วทำไมยังมีคนบอกว่ายังไม่ได้รับเงินคืน?
โดยหากเป็นธุรกรรมผิดปกติที่มีลักษณะที่เข้าข่ายกรณีสุ่มข้อมูลบัตรและนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศ ที่ไม่มีการใช้ OTP ในช่วงวันที่ 1-17 ต.ค. ลูกค้าบัตรเดบิตต้องได้รับเงินคืนเข้าบัญชีแล้วก่อนวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา หากยังไม่ได้รับเงินคืน อาจเป็นกรณีที่เกิดภายหลัง 17 ต.ค. ซึ่งธนาคารจะดำเนินการคืนเงินภายใน 5 วัน หลังจากวันที่ตรวจสอบพบ
แบงก์ชาติ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีที่ลูกค้ายังไม่ได้รับเงินคืน แม้เป็นช่วงเวลา 1-17 ต.ค. ระบุว่า นอกเหนือจากกรณีข้างต้น ยังมีธุรกรรมทุจริตอีกหลายรูปแบบ ซึ่งประเภทของความเสียหายอาจต่างกรณีกัน ธนาคารจึงจำเป็นต้องพิจารณารูปแบบและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก่อนดำเนินการคืนเงิน
ทั้งนี้หากมีข้อสงสัย ขอให้ลูกค้าติดต่อผ่านช่องทางบริการต่าง ๆ ของธนาคารผู้ออกบัตรเพื่อความรวดเร็ว กรณีไม่ได้รับความสะดวกสามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. (โทร. 1213) เพื่อประสานส่งข้อมูลและหลักฐานให้กับธนาคารต่อไป
3. ในส่วนที่ดำเนินการไป เลือกเฉพาะที่เกิดเรื่องช่วงเป็นข่าวใช่หรือไม่ แล้วที่เหลือจะทำอย่างไร ที่แจ้งว่า 5 วัน จะเป็นมาตรฐานตลอดไปไหม?
โดย ธปท.ได้ระบุว่า เนื่องจากเป็นกรณีธุรกรรมที่ผิดปกติจำนวนมาก จึงมีมาตรการแก้ไขเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ทั้งนี้ เนื่องจากการทุจริตมีหลายรูปแบบ มีความซับซ้อนแตกต่างกัน ธปท. และสมาคมธนาคารไทยจะมีการปรับปรุงการดำเนินการให้เรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นมาตรฐานทั้งระบบ โดยจะคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ
4. ทำไมยังเกิดเคสใหม่ๆ ทั้งที่ ธปท. และสมาคมธนาคารไทยออกมาชี้แจงว่าได้แก้ปัญหาและยกระดับการป้องกัน?
โดยการทำธุรกรรมออนไลน์ของธนาคารมีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล อย่างไรก็ดี การทุจริตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ที่ผ่านมามีจำนวนไม่มาก จากข้อมูลล่าสุด อัตราการทำธุรกรรมทุจริตผ่านบัตรชำระเงิน (เดบิต/เครดิต) ของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค และหากมีการทุจริตที่ลูกค้าไม่เกี่ยวข้อง ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ธนาคารจะร่วมมือกับ ธปท. และผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรในการยกระดับการป้องกัน ในเรื่องการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ป้องกัน และดูแลรับผิดชอบความเสียหายอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงเพิ่มเติม ประชาชนผู้ใช้บริการควรเฝ้าระวังและหมั่นตรวจสอบธุรกรรมของตนเองหรือทำการปรับวงเงินที่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารด้วย
แหล่งที่มาของข่าว : เดลินิวส์ (Daily News)
สามารถติดตามข่าวการเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวการเงิน
- ส่อง! มาตรการเยียวยาธุรกิจ SMEs ผ่าน ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th
- เริ่มวันนี้ ลงทะเบียนเงินเยียวยา แท็กซี่ – วินมอเตอร์ไซค์ 29 จังหวัดแดงเข้ม