สปสช.แจก ATK ให้ครูในกทม. 3 แสนชุด ตรวจโควิด เตรียมพร้อมเปิดเรียน
สปสช.แจก ATK ให้ครูใน 600 โรงเรียนทั่ว กทม. 3 แสนชุด เพื่อตรวจโควิด เตรียมพร้อมเรียนแบบ Onsite
สปสช. แจก ATK ให้อาจารย์-บุคลากร โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย จำนวน 200 คน ใช้คัดกรองโควิด-19 เพื่อใช้เตรียมเปิดภาคเรียน หวังสร้างความมั่นใจผู้ปกครอง-นักเรียน ระบุ เตรียมกระจาย 3 แสนชุด สำหรับโรงเรียน 600 แห่ง ใน กทม.
วานนี้ 18 ต.ค. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. และ ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) เยี่ยมชมการดำเนินการแจกชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) สำหรับอาจารย์-บุคลากร โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เขตวัฒนา กทม. เพื่อใช้ตรวจคัดกรองโควิด-19 สร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองและนักเรียน สำหรับการกลับมาเรียนในรูปแบบ On site
ดร.พัชราภรณ์ ดวงชื่น ผู้จัดการโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยมีกำหนดเปิดภาคเรียนแบบ Online ในวันที่ 26 พ.ย. 2564 และหากผ่านมาตรการ sandbox safety zone in school ก็จะเปิดให้นักเรียนเข้ามาเรียนในสถานศึกษาในวันที่ 29 พ.ย. 2564 นี้ โดยโรงเรียนจะต้องได้รับการอนุมัติจากทางภาครัฐในการดำเนินการเปิดสถานศึกษาก่อน เพื่อให้นักเรียนสามารถอยู่ในสถานศึกษาอย่างปลอดภัย เนื่องจากโรงเรียนมีนักเรียนประจำด้วย
อย่างไรก็ดี ทางโรงเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของสถานที่ ทั้งบริเวณโรงเรียน รวมไปถึงที่พักของนักเรียนประจำ โดยจะมีแม่บ้านคอยทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ไม่เป็นอันตรายต่อผิวเด็กอยู่ตลอด นอกจากนี้อาจารย์และบุคลากรของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยได้รับวัคซีน รวมฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว 98% ของบุคลากรทั้งหมด ขณะที่นักเรียนก็ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วราว 80% ของนักเรียนทั้งหมด
“ทางโรงเรียนมีการจัดเตรียมทีมพยาบาล และแผนเผชิญเหตุ รองรับโดยหน่วยบริการที่โรงเรียนติดต่อไว้ เช่น โรงพยาบาลเมดพาร์ค โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ คริสเตียน และโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท” ดร.พัชราภรณ์ ระบุ
ดร.พัชราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเปิดภาคเรียนครั้งแรกอาจจะใช้วิธีคัดกรอง 100% แต่หลังจากนั้นอาจจะใช้วิธีการสุ่มคัดกรองประมาณ 10-20% ตามที่ภาครัฐได้ให้มาตรการไว้กับทางโรงเรียน เพราะการที่นักเรียน-อาจารย์-บุคลากรได้รับวัคซีนแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดเชื้อ ฉะนั้นก็มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด
นางสุภลักษณ์ ไชยสถาน ผู้อำนวยการโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้มีการสอบถามความสมัครใจไปยังผู้ครองในกรณีที่นักเรียนจะต้องเดินทางมาเรียนในลักษณะ On site ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการสรุปผล แต่จากการพูดคุยเบื้องต้นกับสมาคมผู้ปกครองก็ได้รับความเห็น ทั้งเห็นด้วยกับการเรียน Online และ On site แต่ก็ยังมีข้อกังวลสำหรับเด็กเล็ก เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนจึงได้มีการจัดการเรียนการสอนสลับกันทั้ง Online และ On site ในภาคเรียนนี้ เพื่อที่จะกระจายนักเรียนไม่ให้เกิดความแออัด งดวิชาว่ายน้ำเพราะมีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงมีการจัดสรรกลุ่มสำหรับทำกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับนักเรียน
นายศรัณยู ชเนศร์ รองประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท และกลุ่มบริษัทในเครือ กล่าวว่า โรงเรียนถือเป็นเป้าหมายของ สปสช. ที่ต้องการให้อาจารย์-บุคลากรได้รับชุดตรวจ ATK เพื่อใช้ในการคัดกรองเบื้องต้น ซึ่งทางคลินิกกล้วยน้ำไทก็เป็นโรงพยาบาลที่ได้ร่วมมือกับ สปสช. อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ทางคลินิกก็ยังได้ให้คำแนะนำ-วิธีการใช้ชุดตรวจที่ถูกต้องแก่อาจารย์-บุคลากรในโรงเรียน เนื่องจากเมื่อมีการเรียนการสอนเกิดขึ้น อาจารย์ก็จะเป็นผู้ที่ต้องแนะนำวิธีให้นักเรียนสามารถใช้ชุดตรวจ ATK ได้อย่างถูกต้อง
“คลินิกกล้วยน้ำไทมีประมาณ 30 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งสาขาที่อยู่ใกล้โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยที่สุด ก็คือสาขาอโศก ฉะนั้นคลินิกก็พร้อมที่จะเข้ามาดูแล หากพบผลตรวจเป็นบวก ซึ่งที่ผ่านมาคลินิกกล้วยน้ำไทก็ได้มีการรองรับการรักษา ทั้งการรักษาตัวด้วยตนเองที่บ้าน (Home isolation) Hospitel และในโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท” นายศรัณยู กล่าว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เท่าที่ดูสถานการณ์โควิด-19 ในเขต กทม. มีแนวโน้มอัตราการป่วย-เสียชีวิตที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่จะมีการเปิดภาคเรียนให้เด็กนักเรียนสามารถเข้ามาเรียนที่โรงเรียนได้ ฉะนั้นการเข้าถึงชุดตรวจ ATK จะเป็นกลวิธีที่จะเข้ามาดูแล ป้องกัน และเฝ้าระวังเมื่อมีการเปิดภาคเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษา ซึ่งถ้าหากมีการติดเชื้อก็จะสามารถดูแล-ให้การรักษาอย่างทันท่วงที
“เราคาดหวังว่าไม่อยากให้มีใครต้องติดเชื้อ แต่เราก็ต้องเฝ้าระวัง เครื่องมือที่เรามี ชุดตรวจ ATK เป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีที่กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้ร่วมกันที่อยากจะกระจายไปให้พี่น้องประชาชนได้ตรวจ” นพ.จเด็จ กล่าว
สำหรับการตรวจ จะเป็นการสุ่มตรวจเป็นหลัก แต่หากตรวจพบแล้วว่ามีผลบวกในโรงเรียน ก็อาจจะต้องมีการระดมตรวจอีกครั้ง ซึ่งโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการที่เข้ามาผูกกับโรงเรียนจะเป็นหน่วยที่จะต้องรับผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันว่าถ้าให้ยา-รักษาเร็ว การเปลี่ยนเป็นกลุ่มอาการที่รุนแรงก็จะลดลง
“แม้จะมีข้อมูลว่าในเด็กอุบัติการณ์การป่วยหนักจะน้อย แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง และให้การรักษาที่รวดเร็ว อย่างทันท่วงที เพราะส่วนหนึ่งของเด็กอาจจะแพร่กระจายไปยังครอบครัวได้ ดังนั้นตรงนี้หน่วยบริการจะต้องมาผูกกับโรงเรียนทุกโรงเรียนไว้” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การแจก ATK ให้กับกลุ่มบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ กทม. จะมีการแจกทั้งหมด 3 แสนชุด สำหรับโรงเรียนกว่า 600 แห่ง โดยจะมีคลินิกชุมชนอบอุ่นในเครือข่ายของ สปสช. ที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานศึกษานั้นๆ เข้าไปดำเนินการแจกให้ ซึ่งในส่วนของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย สปสช.รับความร่วมมือจากคลินิกเคสหคลินิกในเครือโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท มาตั้งจุดกระจาย ATK ให้ที่โรงเรียน โดยจะแจกแก่ครู อาจารย์ และบุคลากรอื่นๆ ของโรงเรียนรวมกว่า 200 คน
ที่มา : สปสช
- โคลิน พาวเวลล์ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯผิวดำ เสียชีวิตจากโควิดด้วยวัย 84 ปี
- ‘อนุทิน’ โวตั้ง เป้าฉีดวัคซีนโควิด ปี 64 ไว้ 80% ชี้ฉีดวัคซีนเร็วกว่าที่คาด
- โควิดไทยวันนี้ 19 ต.ค. ติดเชื้อเพิ่ม 9,122 ราย ดับ 71 ศพ