ประกาศขายไตยกครอบครัว เพราะไปค้ำประกันรถไถ อดีต ส.ส.เตือนทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย
ประกาศขายไต ยกครอบครัว เผยสาเหตุที่ต้องทำเพราะบ้าน ที่ดิน กำลังถูกยึดขายทอดตลาด หลังไว้ใจไปค้ำประกันให้เมียเพื่อนสนิท อดีตส.ส.พัทลุง เตือนทำไม่ได้เพราะผิดกฏหมาย
จากรณีที่สำนักข่าว มติชน ได้นำเสนอข่าวครอบครัวหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี ติดป้ายไวนิลประกาศขายไตยกครอบครัว ซึ่งต่อมานายรักษ์เทวา คะพิมพ์อุดมลาภ อายุ 48 ปี อาชีพพนักงานจ้าง อบต.เจียด อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ได้ออกมาเปิดเผยถึงสาเหตุที่ต้องประกาศขายอวัยวะยกบ้านครั้งนี้เป็นเพราะตนเองไปค้ำประกันรถแทรกเตอร์ มูลค่ากว่า 860,725 บาท ให้กับภรรยาของเพื่อนสนิทคนหนึ่งซึ่งเป็นตำรวจ แล้วถูกบริษัทไฟแนนซ์ฟ้องร้อง
โดยตอนนี้ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดอุบลราชธานี จะทำการยึดที่ดินและบ้านที่อยู่อาศัยกับครอบครัวในปัจจุบันขายทอดตลาด เพราะภรรยาเพื่อนคนที่ซื้อรถรถแทรกเตอร์คันดังกล่าวไปไม่ยอมส่งค่างวด ทำให้ตนเองตกเป็นจำเลยที่ 2 ในฐานะคนค้ำประกัน และถูกฟ้องยึดทรัพย์แทน
ครอบครัวนายรักษ์เทวา มีด้วยกันทั้งหมด 4 คน รวมตนเอง ภรรยา และลูกชายอีก 2 คน โดยกลัวลูกๆ จะไม่มีบ้านอยู่ จึงตัดสินใจประกาศขาย ตา ไต หรือ อวัยวะส่วนใดก็ได้ของร่างกายที่ต้องการ ยกครอบครัว เพื่อแลกกับเงิน 860,725 บาท เพื่อจะนำไปซื้อบ้านคืน
ล่าสุด วันนี้ (14 ต.ค.64) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุงหลายสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาโพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง ระบุ กรณีการประกาศขาย ดวงตา ไต หรืออวัยวะของตนเช่นเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะผิดกฏหมาย หากผู้ใดไปซื้อดวงตา ไต ข้อหาแรกที่จะโดนคือ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัส หมอที่ไปรับทำก็โดนคดีอาญาพร้อมกับเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพด้วย
ส่วนข้อโต้แย้งที่มีคุณพ่อบริจาคไต ดวงตา ให้ลูกได้ ส่วนนี้เป็นการ “บริจาค” เพื่อช่วยชีวิต ไม่ใช่การ ”ขายอวัยวะเพื่อแลกกับทรัพย์สิน”
ปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดห้ามมิให้มีการซื้อขายอวัยวะหรือการจ่ายค่าตอบแทน โดยอ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับการพิจารณาในแง่ผลทางกฎหมาย
ประเด็นการซื้อขายอวัยวะ สามารถแยกพิจารณาเบื้องต้นออกเป็นสองประเด็น คือ ประเด็นในทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กับประเด็นในทางกฎหมายอาญา ซึ่งในทางแพ่งและพาณิชย์บุคคลย่อมมีเสรีภาพที่จะทำสัญญาใดใดได้โดยอิสระทั้งนี้เป็นไปตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญารวมถึงสัญญาซื้อขายด้วย แต่จะทำได้เท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลและทำอันดีของประชาชนตามหลักมาตรา 150 ป.พ.พ. ซึ่งการขายอวัยวะนั้นนับเป็นการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมทำอันดีของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีและไม่อาจให้ใครสามารถลักเอาไปได้ ดังนั้นสัญญาซื้อขายอวัยวะจึงตกเป็นโมฆะ เนื่องจากขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 150 ป.พ.พ. (ศูนย์นิติศาสตร์, 2552 : ออนไลน์)
นอกจากนี้กระบวนการขั้นตอนให้ได้มาซึ่งอวัยวะสำหรับทำการซื้อขายยังอาจเป็นละเมิดอีกด้วยเนื่องจากการผ่าตัดเอาอวัยวะจากผู้ที่มีชีวิตอยู่เป็นการจงใจกระทำผิดกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายอาญา ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวระบุว่า “การทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายและอนามัย” ของผู้ถูกผ่าตัดเอาอวัยวะผู้กระทำการผ่าตัดแยกอวัยวะจากร่างกายคนจึงเป็นผู้กระทำละเมิด และแม้จะเป็นการผ่าตัดใหญ่อวัยวะออกจากศพที่เพิ่งเสียชีวิตศพนั้นก็มีลักษณะเป็นทรัพย์ การผ่าตัดศพจึงเป็นการจงใจทำให้เกิดความเสียหายแก่ศพ เข้าลักษณะทำให้ทรัพย์สินเสียหายและเป็นการละเมิดเช่นเดียวกัน (ศูนย์นิติศาสตร์, 2552 : ออนไลน์)
สำหรับในวันนี้ (14 ต.ค.64) ทั้งนายรักษ์เทวาและครอบครัวจะออกเดินเท้าจากบ้านที่ อ.เขมราฐ ระยะทางกว่า 100 กม.ไปร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ ที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อขอความช่วยเหลือ และอาจจะรอพบท่านนายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางมาอุบลฯ ในวันที่ 15 ต.ค.นี้
วางแผนชีวิต เพื่อความมั่นคงในบั้นปลาย เลือกทำประกันชีวิตกับ Tadoo คลิกที่นี่
- แพทย์เตือนกลุ่ม #อยากขายไต อันตรายเสี่ยงไตวาย
- เพจแฉ! แร็พเปอร์ทรงดีรักเมีย โกงเงินเพื่อนร่วมวงการหลักล้าน
- ปปง.ยึดอายัดเรือฟินิกซ์แล้ว เตรียมพิจารณาขายทอดตลาด