ข่าวข่าวการเมืองข่าวภูมิภาค

สหประชาชาติ เร่งไทย บังคับใช้ ‘พ.ร.บ.อุ้มหาย’ โดยเร็ว ย้ำต้องเป็นสากล

สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เร่งไทย บังคับใช้ ‘พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย’ โดยเร็ว ย้ำต้องเป็นสากล

กรุงเทพมหานคร (4 ตุลาคม 2564) – สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยินดีที่ประเทศไทยรับหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาสอดคล้องตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างครบถ้วนโดยเร็ว

Advertisements

สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้เพื่อนำมาพิจารณาเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งได้รับการแต่งตั้งเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจะประชุมครั้งแรกในวันที่ 5 ตุลาคมนี้

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) เมื่อปี 2550 และลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) เมื่อปี 2555 ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อ ICPPED และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ OPCAT)

เมื่อปี 2559 ระหว่างที่มีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) ของประเทศไทย รอบที่ 2 นั้น ประเทศไทยได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจว่าจะเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับต่างๆ รวมถึง ICPPED และ OPCAT อีกทั้ง ในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกระบวนการ UPR รอบที่ 2 ฉบับกลางรอบ เมื่อปี 2562 นั้น ประเทศไทยกล่าวว่าจะภาคยานุวัติ ICPPED ต่อเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศกำหนดความผิดทางอาญาการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดย UPR เป็นกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของรัฐสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศ

แม้ร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้จะมีเนื้อหาครอบคลุมหลักการระหว่างประเทศที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการที่จะไม่ถูกทรมานเป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจระงับชั่วคราวได้ (non-derogability of torture) และหลักการไม่ส่งใครกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) แต่นิยามหลักของอาชญากรรมการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายนั้นไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้ง ร่าง พ.ร.บ.ฯ ยังขาดบทกำหนดความผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (cruel, inhuman and degrading treatment or punishment) และไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องการยอมรับไม่ได้ของคำให้การ หรือข้อมูลอื่นที่ได้จากการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีเพื่อเป็นหลักฐานในกระบวนการทางกฎหมาย

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้พ.ร.บ.ที่มีองค์ประกอบที่จำเป็นและเกี่ยวข้องทุกประการโดยไม่รีรออีกต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน และเป็นการปฏิบัติตามคำมั่นโดยสมัครใจที่ให้ไว้ในกระบวนการ UPR เมื่อปี 2559 ที่จะให้สัตยาบันต่อ ICPPED และ OPCAT” ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

Advertisements

ไทยเกอร์นิวส์

นำเสนออัปเดตข่าวสารบ้านเมือง ข่าวล่าสุด มั่นใจว่าคุณจะทันทุกสถานการณ์ ไม่ว่า สังคมเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง เรื่องร้อนออนไลน์ ดราม่าดารา อัปเดตบันเทิง ซีรีส์ หนัง เพลง ท่องเที่ยว กีฬา ตรวจหวย เลขเด็ด พร้อมเสิรฟ์ทุกเรื่องยาก ๆ ย่อยให้คุณเข้าใจง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button