ข่าว

ประยุทธ์ โพสต์ถึงสถานการณ์น้ำท่วม สั่ง ปภ. ดูแล 24 ชม. เร่งกรมชลฯระบายน้ำ

ประยุทธ์ กล่าวถึง สถานการณ์น้ำท่วม ล่าสุด ผ่านเพจเฟซบุ๊กร่ายยาว สั่ง ปภ. ปฏิบัติหน้าที่ทันที 24 ชม. มอบหมาย กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำ

ข่าวน้ำท่วม – หลังจากกลับมาจากเดินทางไปลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่จังหวัดสุโขทัย ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha โดยได้ร่ายยาวถึงแผนการตลอดจนการจัดการสถานการณ์น้ำที่หลายจังหวัดกำลังประสบปัญหาหนัก

Advertisements

โดยระบุว่า เรียนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ในระยะนี้ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะลดระดับความรุนแรงลง แต่ก็ยังคงมีฝนกระจายหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีมวลน้ำสะสมหลายจังหวัด อาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันได้

โดยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน ได้มีข้อสั่งการต่อกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ปภ.) ให้จัดทำแผนรับมือน้ำท่วมระดับประเทศ และถ่ายทอดคำสั่งไปยังศูนย์ ปภ. แต่ละจังหวัด ให้พร้อมปฏิบัติการได้ทันทีในพื้นที่เสี่ยงภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยชุดปฏิบัติการจากหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ รวมถึงอาสาสมัครและประชาชนจิตอาสา เข้าคลี่คลายสถานการณ์

ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานจากพระมหากรุณาธิคุณในการประกอบอาหาร การแจกจ่ายถุงยังชีพ เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหากสถานการณ์มีแนวโน้มไม่ปลอดภัย ทาง ปภ. ของพื้นที่จะอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิง ที่จัดเตรียมไว้อย่างทันท่วงที โดยให้ฝ่ายปกครอง กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันโควิด-19

ทั้งหมดนี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด และได้เตรียมแผนป้องกันและรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นกับจังหวัดอื่นๆทางตอนล่างของประเทศ รวมถึงเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลไว้แล้วด้วย

สำหรับผู้ประสบภัย สามารถแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชั่น “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisements

ขณะเดียวกันหลังจากได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่จังหวัดสุโขทัยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐบาลและกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมชลประทาน เร่งระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน เข้าพื้นที่ลุ่มต่ำและแม่น้ำยม นอกจากนั้น ในการลงพื้นที่ สุโขทัย ครั้งนี้ยังได้กำชับให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัยอย่างยั่งยืนตามแผนงานที่รัฐบาลวางไว้

นอกจากการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว หลักการทำงานที่ผมยึดไว้อยู่เสมอในการบริหารราชการแผ่นดินก็คือ เราต้องคิดถึงการพัฒนาเพื่อวันข้างหน้าคู่ขนานกันไปเสมอ อย่างเช่น เรื่องน้ำท่วม-ฝนแล้ง ย่อมกระทบการทำมาหากินของพี่น้องประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งจำเป็นต้องปรับตัว เช่น พี่น้องเกษตรกรก็จำเป็นต้องมีอาชีพเสริม การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มจากพืชผลทางการเกษตร การค้าออนไลน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดให้มีระบบการลงทะเบียนเกษตรกร ทั้งเพาะปลูก-ประมง-ปศุสัตว์ ซึ่งทำให้การช่วยเหลือของรัฐ ทั้งเรื่องการประกันภัย ประกันราคา เยียวยาภัยพิบัติ มีความสะดวก รวดเร็ว อีกด้วย (การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังมีรายละเอียดตามภาพประกอบ)

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งนี้ คือการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด จากทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และทุกภาคส่วน ผมขอชื่นชมข้าราชการยุคใหม่ที่ทำงานเชิงรุกมากขึ้น ลุกออกไปช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่เพียงรอให้ประชาชนที่เดือดร้อนเข้ามาขอความช่วยเหลือถึงที่ตั้ง นี่คือเกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการที่แท้จริงที่ผมขอยกย่อง

นอกจากนั้น พี่น้องประชาชนทุกท่าน ต้องเรียนรู้และปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในรูปแบบของโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทั้งตนเองและสังคมรอบตัว

สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดกลไกการทำงานที่เข้มแข็งในทุกชุมชน ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ให้ประเทศชาติเข้มแข็งขึ้นอย่างแน่นอน จากการประสานพลังของเราทุกคนครับ

สนใจทำประกันบ้านกับ Tadoo คลิกที่นี่

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button