หมอยง เผยงานวิจัยจุฬาฯ กระตุ้นแอสตร้าเข็ม 3 หลังรับซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูง ขัดขวางเดลตาได้
หมอยง เผยงานวิจัยจุฬาฯ กระตุ้นเข็ม 3 ด้วย แอสตราเซนเนก้า หลังจากได้รับ ซิโนแวค มาแล้ว 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงมาก ขัดขวางสายพันธุ์เดลตาได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเผยแพร่เรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 เรื่อง การกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 โดยระบุข้อความว่า การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง การกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้นจึงมีความจำเป็น
การฉีดวัคซีน มีการให้เบื้องต้นและกระตุ้น เช่น ไวรัสตับอักเสบบี จะให้เบื้องต้น 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน และกระตุ้นเข็มที่ 3 อีก 6 เดือนต่อมา ทำนองเดียวกัน วัคซีนโควิด-19 ถ้ามีการกระตุ้นเข็ม 3 ภูมิต้านทานจะสูงขึ้นมาก การให้วัคซีนเบื้องต้น 2 เข็ม เช่น เชื้อตาย เปรียบเสมือนให้ร่างกายรู้จักเหมือนการติดเชื้อ เมื่อกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงมาก
งานวิจัยที่ศูนย์เชี่ยวชาญไวรัส จุฬาฯ แสดงให้เห็นในบทความ https://www.medrxiv.org/…/2021.09.16.21263692v1.full.pdf การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตราเซเนกา หลังจากได้รับซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงมาก และขัดขวางสายพันธุ์เดลตาในการทดลอง และมีระดับภูมิต้านทาน IgA ในเลือดสูงกว่าการให้เบื้องต้นอย่างมาก
การตรวจในห้องปฏิบัติการ ภูมิที่สูงขึ้นสามารถขัดขวางสายพันธุ์ไวรัสเดลตาได้ หลายประเทศมีการให้วัคซีนเข็ม 3 กันแล้ว ประเทศไทยให้เข็ม 3 ด้วยวัคซีนตามคุณสมบัติและการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค