‘หมอหม่อง’ เผย ข้อมูลฉีดวัคซีนโควิดเด็ก ประกอบการตัดสินใจ
หมอหม่อง เผย ข้อมูลฉีดวัคซีนโควิดเด็ก หลังจากที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนในบางพื้นที่ ชี้ผู้ชายเสี่ยงเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ส่วนมากอาการไม่รุนแรง
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก เปิดเผยข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้ปกครองก่อนนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนโควิด
โดยข้อความระบุว่า “ผมเอง ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนโดยตรง แต่เป็นแพทย์โรคหัวใจเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงวัคซีนบางชนิด ผมลังเลที่จะให้ข้อมูล ความเห็นเรื่องนี้มาตลอด เพราะเห็นว่า มันไม่ง่ายเลย เกรงว่าจะชี้นำไม่ถูกต้อง (ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มั่นใจขนาดทุบโต๊ะบอก) จนวันนี้ ผมต้องตัดสินใจ ว่าจะเลือกอย่างไรดีกับกับลูกสาวผมเอง
ผมจึงขออธิบาย ความคิดของผม เผื่อจะเป็นประโยชน์กับ คนอื่นๆที่มีลูก และกำลังตัดสินใจว่า ควรฉีดหรือไม่ ถ้าฉีดควรฉีดตัวไหน(ถ้าเลือกได้)
การชั่ง risk benefit ของวัคซีนในเด็ก ไม่ง่ายนักข้อมูล เปรียบวัคซีนแต่ละตัว ก็มีจำกัด คงต้องพิจารณาข้อมูลเท่าที่มีให้ดี
1.แน่นอน ผลข้างเคียงที่เรากังวลที่สุด สำหรับ mRNA vaccine คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ myocarditis
รายละเอียดคือ 1.1 ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบส่วนใหญ่ 95% อาการไม่มาก หรือไม่มีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตพบน้อยมากๆ
แต่อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ทราบผลกระทบระยะยาวจนถึงผู้ใหญ่ จะมีกี่รายที่ จะมีการดำเนินโรคต่อเป็นโรคหัวใจ dilated cardiomyopathy หรือไม่ ยังไม่ทราบ เพราะข้อมูลเพิ่งมี (แต่โดยส่วนตัวมองว่า โอกาสเช่นนั้นมีน้อย เพราะกลไกหลักเป็นจาก ปฏิกริยาของภูมิต้านทาน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา สาเหตุเหล่านี้จะมีผลเพียงระยะสั้น ต่างจาก ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดจากเขื้อไวรัสโดยตรง)
1.2 อุบัติการณ์สูงขึ้นใน เด็กผู้ชาย อายุน้อย อาจถึง 40 ราย ต่อล้านโดส เด็กผู้หญิง ความเสี่ยงน้อยกว่านี้ ราว 10 เท่า Moderna พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบบ่อยกว่า Pfizer (ข้อมูลจาก แคนาดา ต่างกัน 7 เท่า)
2.อัตราการป่วยหนัก เสียชีวิต ของเด็กกลุ่มที่เราสนใจ ในประชากรเราเท่าใด หากเราดูข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา อัตราป่วยหนัก จนต้องนอน ICU ของเด็กวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโควิด จะอยู่ที่ราว 150-200 คน ต่อ ประชากรล้านคน
ข้อมูลนี้ ต้องใช้ของประเทศเราเอง และขึ้นกับสถานการณ์ระบาดในแต่ช่วงเวลา แต่ละพื้นที่ จะหยิบยืมมาจาก อเมริกา ตรงๆไม่ได้
ปัญหาคือ ผมยังไม่เห็นข้อมูลนี้ของไทยเลย ว่า อัตราป่วยหนักต่อประชากรในวัยรุ่นเราเป็นเท่าใด
หาก ข้อ 2 มากกว่า ข้อ 1 เยอะๆ ก็ดูจะคุ้ม หากใกล้เคียงกัน อาจต้องพิจารณาวัคซีนที่ ความปลอดภัยสูงกว่า แต่ประสิทธิภาพต่ำกว่า อย่าง วัคซีนเชื้อตาย หรือไม่ (ซึ่งข้อมูลในเด็ก ก็มีจำกัด แต่คาดว่า ผลข้างเคียงและประสิทธิภาพต่ำกว่า เหมือนในผู้ใหญ่)
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้ว ผมมองไปถึงสถานการณ์ในอนาคต ซึ่งเชื่อว่า การระบาดของโรคนี้ จะยังดำเนินต่อไป จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้น ผมจึงมองว่า ความเสี่ยงในข้อสอง จึงจะสูงกว่าข้อ แรกมากๆ
ผม และ ภรรยาจึงตัดสินใจ ให้ลูกผู้หญิงอายุ 13 ปี รับ mRNA vaccine โดยถามความสมัครใจของเขาด้วย เพราะเขาเองก็ติดตามข้อมูลข่าวสาร สามารถมีส่วนร่วมใน informed decision นี้ได้ นี่คือวิธีคิด ของผม
ที่ผมคิดว่าเป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับลูกและสังคมโดยรวม ในฐานะพ่อ และหมอโรคหัวใจครับ ผู้ปกครองแต่ละท่าน คงต้องชั่งน้ำหนักข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กันครับ”
- เริ่มวันนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้เด็ก 10-18 ปี
- ‘นนท์ Student’ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียน เริ่มลงทะเบียนแล้ววันนี้
- ศธ. เปิด ดาวน์โหลดเอกสารฉีดไฟเซอร์นักเรียน ดีเดย์ 4 ต.ค.