ข่าว

กรมอุตุฯ ประกาศเตือนพายุดีเปรสชัน โกนเซิน ฉบับสุดท้าย

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือน ฉบับที่ 16 เรื่อง พายุดีเปรสชัน โกนเซิน โดยเป็นฉบับสุดท้าย ขณะที่สภาพอากาศวันนี้ระวังฝนตกหนักและฝนสะสม

วันที่ 13 กันยายน 2564 นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยลักษณะอากาศ ฉบับที่ 16 เรื่อง “พายุดีเปรสชัน “โกนเซิน””

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันนี้ (13 ก.ย. 64) พายุดีเปรสชัน “โกนเซิน” บริเวณชายฝั่งของเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์

ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นไป มีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งต่อไป จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศ ณ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 11.00 น. โดย กรมอุตุนิยมวิทยา จะออกประกาศฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้ายของเหตุการณ์นี้

ส่วนวันนี้ (14 ก.ย.64) พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย

สำหรับทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 1 วัน

ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button