Twitter เจาะลึก 6 เทรนด์มาแรงช่วยดันแบรนด์เหนือคู่แข่ง: One Planet
ทวิตเตอร์ (Twitter) เจาะลึก 6 เทรนด์มาแรงช่วยดันแบรนด์เหนือคู่แข่ง “One Planet” กระแสที่ชาวทวิตภพทวีตถึงมากที่สุดโตกว่า 191%
กรุงเทพฯ, 10 กันยายน 2021 – ทวิตเตอร์มีหลายล้านบทสนทนาเกิดขึ้นในทุกๆ วัน ทั้งยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนเข้ามาติดตามข่าวด่วน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น #WhatsHappening และทำให้เกิด cultural moments แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในแวดวงบันเทิง ข่าวประเด็นร้อน กีฬา ไปจนถึงการเคลื่อนไหวทางสังคม ทวิตเตอร์คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ผ่านทวีตนับล้านในทุกๆ วัน ทวิตเตอร์จึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนทางสังคมและวัฒนธรรมที่ชี้ให้เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้คนในประเทศนั้นๆ
ทวิตเตอร์ได้วิเคราะห์ทวีตใน 3 ปีที่ผ่านมา (ก.ค. 2018 – มิ.ย. 2021) และได้เจาะลึกลงไปในบทสนทนาของทวิตเตอร์ประเทศไทยว่า พวกเขาคือใคร มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างไร เทรนด์ที่กำลังมาแรงคืออะไร ซึ่งได้จัดทำเป็นรายงานข้อมูลเชิงลึกขึ้นชื่อว่า Thailand TwitterTrends Report 2021 โดยจากการศึกษาพบว่า มี 6 กลุ่มหัวข้อสนทนาที่กำลังเป็นที่นิยมและกำหนดทิศทางอนาคต คือ Wellbeing, Creator Culture, Everyday Wonder, One Planet, Tech Life และ My Identity ซึ่งเราทราบดีว่าแบรนด์ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเหล่านี้สามารถแสดงศักยภาพของแบรนด์ออกมาได้เป็นอย่างดีและประสบความสำเร็จมากที่สุด ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้จึงมีประโยชน์กับนักการตลาดและแบรนด์ต่างๆ ที่กำลังมองหาวิธีเอ็นเกจและสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาได้ดียิ่งขี้น
นายมาร์ติน ยูเรน หัวหน้าแผนกงานวิจัย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลกของทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า “การจัดทำรายงานข้อมูลเชิงลึก Thailand TwitterTrends Report ครั้งนี้ เป็นการเจาะลึกถึงบทสนทนาที่เกิดขึ้นบนทวิตเตอร์ประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้นักการตลาดและแบรนด์เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้นว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาสนใจ อะไรคือสิ่งที่พวกเขามีแพสชั่น พวกเขากำลังพูดคุยอะไรกัน และอะไรที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกเขา รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงเทรนด์ทางวัฒนธรรมที่กำลังเป็นตัวกำหนดการสนทนาในอนาคต โดยรายงานดังกล่าวจะทำให้แบรนด์สร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น และหากแบรนด์เข้าไปมีส่วนร่วมในกลุ่มบทสนทนาหลักที่สำคัญได้ก็จะส่งผลดีให้แบรนด์รู้ล่วงหน้าว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร และอยู่เหนือคู่แข่งได้ในที่สุด”
มาดูกันว่าบทสนทนาที่เป็นเทรนด์ 6 หัวข้อบนทวิตเตอร์ประเทศไทยมีอะไรบ้าง
-
Wellbeing
ชาวทวิตภพจะไม่ปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพเดิมๆ และ “ปล่อยชีวิตให้ผ่านไป” แบบง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว บทสนทนาเกี่ยวกับ Wellbeing หรือ การมีชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น 16% แสดงให้เห็นว่าหัวข้อนี้แสดงถึงการที่คนไทยกำลังให้ความสำคัญในเรื่องของการเชื่อมต่อระหว่างสุขภาพกายและสุขภาพใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจิตที่เป็นเรื่องที่ชาวทวิตภพให้ความสำคัญมากขึ้น และได้มีการพูดถึงโดยทั่วไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น
นอกจากนี้คนไทยกำลังเปลี่ยนหัวข้อการพูดคุยจากเรื่องของการอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก และการออกกำลังกายแบบยกเวท มาเป็นการพูดคุยในหัวข้อที่เกี่ยวกับสุขภาพองค์รวม การมองร่างกายของตัวเองในเชิงบวกและการค้นหาตัวเอง ในขณะเดียวกันพวกเขาก็แบ่งปันคำปรึกษาและให้กำลังใจผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน
บทสนทนาหัวข้อนี้มีความหมายกับแบรนด์อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับความคิดความอ่านของผู้บริโภค แบรนด์ต้องแสดงให้เห็นว่าแบรนด์มีมุมมองเรื่อง Wellbeing อย่างไร และแบ่งปันเรื่องราวอย่างเปิดเผยว่าแบรนด์ได้ใส่ใจดำเนินการในเรื่องของ Wellbeing กับพนักงานในบริษัทอย่างไรบ้าง #ความเครียด, #mentalhealth, #สุขภาพ, #ออกกำลังกาย และ #healthy เป็นแฮชแท็กที่ได้รับความนิยม ที่แบรนด์สามารถใช้เพื่อเข้าไปร่วมพูดคุยในบทสนทนาได้
-
Creator Culture
วัฒนธรรมของครีเอเตอร์มีการเติบโตมากขึ้นบนทวิตเตอร์ประเทศไทย ตั้งแต่ครีเอเตอร์หน้าใหม่ไปจนถึงครีเอเตอร์มืออาชีพที่มากประสบการณ์ นักสร้างสรรค์ไฟแรง และคนที่มีแรงขับเคลื่อนตามความต้องการของตัวเอง ทำให้บทสนทนาที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้เพิ่มขึ้นถึง 26% โดยเกมเมอร์เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นแพลตฟอร์มที่พวกเขาชื่นชอบและดันบทสนทนาที่เกี่ยวกับการเล่นเกมเพิ่มขึ้น คนที่ชื่นชอบการเล่นเกม ต่างมีการแชร์รีวิวเกี่ยวกับเกมใหม่ล่าสุด เครื่องเล่นเกมอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสตรีมเกมและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้เหล่าสตรีมเมอร์ก็ยังสร้างอิทธิพลต่อบทสนทนาในชุมชนเกมเมอร์ไทยบนทวิตเตอร์ เช่น การโปรโมทเกมต่างๆ และการสร้างรายได้จากการสตรีมเกม
ยิ่งในช่วงล็อกดาวน์ที่ผู้คนมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น คนไทยกลายเป็นเชฟที่บ้าน เป็นผู้ประกอบการด้านอาหาร เป็นฟรีแลนซ์ ฯลฯ ส่งผลทำให้มีบทสนทนาที่เกี่ยวกับครีเอเตอร์อาชีพต่างๆ เพิ่มมากขึ้นถึง 48% เนื่องจากคนไทยค้นพบว่ามีกลุ่มเป้าหมายในผลิตภัณฑ์และการบริการของพวกเขาอยู่บนทวิตเตอร์ นอกจากนั้น ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต้องแยกตัวอยู่ห่างจากกัน ผู้คนจึงหันมาใช้งานทวิตเตอร์เพื่อหาวิธีต่างๆ ในการเชื่อมต่อกัน จนทำให้เกิดบทสนทนาเพื่อความบันเทิงที่ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
เหล่าศิลปินและครีเอเตอร์หันมาไลฟ์สดในชีวิตประจำวันมากขึ้นเพื่อลดช่องว่างการเว้นระยะห่างทางสังคมของบรรดาแฟนๆ ในขณะเดียวกัน เนื้อหาหรือคอนเทนต์นั้น เริ่มมีการปรับเปลี่ยนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้คนให้ความสำคัญ กับการเปิดกว้างและการทำงานร่วมกัน ในฐานะที่พวกเขาต่างเป็นทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงานและบริโภคสิ่งเหล่านี้ร่วมกัน
บทสนทนาหัวข้อนี้มีความหมายกับแบรนด์อย่างไร การสนับสนุนและให้คุณค่าในความคิดสร้างสรรค์ แบรนด์ควรให้ความสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ มอบเครื่องมือต่างๆ สร้างโอกาส ช่วยแจกจ่ายหรือช่วยโปรโมทผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งแบรนด์สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหล่าครีเอเตอร์ได้ด้วยการมองพวกเขาว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคอนเซปต์และมีทักษะฝีมือ ไม่ใช่มองว่าพวกเขาคืออินฟลูเอนเซอร์ #โบ๊ะบ๊ะแฟมิลี่, #gamerboys, #ร้านกาแฟ, #คาเฟ่, และ #แอพแต่งรูป เป็นแฮชแท็กที่ได้รับความนิยม ที่แบรนด์สามารถใช้เพื่อเข้าไปร่วมพูดคุยในบทสนทนาได้
-
Everyday Wonder
คนไทยกำลังแสดงออกถึงแพสชั่นบนโลกรอบตัวหรือไกลกว่านั้น โดยค้นพบวิธีที่จะรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันและยังมีความหวัง รวมถึงมีมุมมองในแง่บวกเกี่ยวกับอนาคต จึงทำให้มีบทสนทนาเกี่ยวกับ Everyday Wonder หรือ สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเพิ่มขึ้น 45% ด้วยการที่คนไทยอยากหลีกหนีจากความเครียดในชีวิตประจำวัน และก้าวออกไปยังโลกแฟนตาซี ยังทำให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับโลกแห่งจินตนาการเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น บทสนทนาเกี่ยวกับซีรีส์วายยังเพิ่มขึ้นสูงถึง 381% ในขณะที่บทสนทนาเกี่ยวกับอนิเมะก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ในส่วนของการทำนายทายทัก การดูดวง สายมู และข้อความที่ให้กำลังใจทั้งหลาย ช่วยให้คนไทยปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกใบนี้ บทสนทนาที่เกี่ยวกับด้านจิตวิญญาณในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น 10% ส่วนทวีตที่เกี่ยวกับการดูดวงออนไลน์เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับบทสนทนาที่เกี่ยวกับแรงบันดาลใจและการมองโลกในแง่บวก
บทสนทนาหัวข้อนี้มีความหมายกับแบรนด์อย่างไร บทสนทนาที่ช่วยสร้างความสุข ทำให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถหลีกหนีจากโลกความจริงได้ตามความต้องการ ในช่วงเวลาที่ทุกคนตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่บีบบังคับ แบรนด์สามารถช่วยสร้างเวทมนตร์แห่งความสุขให้กับชีวิตประจำวันของกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น การช่วยบรรเทาให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายด้วยทวีตที่มีอารมณ์ขัน ความสนุกสนาน และความหวัง #การ์ตูน, #anime, #cosplay, #ดูดวง และ #ดวงรายวัน เป็นแฮชแท็กเด่นที่แบรนด์สามารถใช้เพื่อเข้าไปร่วมวงสนทนาได้
-
One Planet
เทรนด์บทสนทนาที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดบนทวิตเตอร์ประเทศไทย สูงถึง 191% เนื่องจากบทสนทนาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสหลัก คนไทยเริ่มใส่ใจ ขวนขวายหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เช่น เรื่องภาวะโลกร้อน และความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร
โดยเทรนด์ที่กำลังเป็นกระแสยังรวมไปถึงบทสนทนาที่เกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นถึง 200% ซึ่งเป็น ทวีตเกี่ยวกับเรื่องขยะ คุณภาพอากาศที่เลวร้าย และการขนส่งที่กลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต่างพูดถึง เนื่องจากคนไทยอยากหันมาใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องของเทคโนโลยีสีเขียว เนื่องจากคนไทยกำลังมองหาความสมดุลของผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลพวงมาจากพวกเขาเองและการที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไรเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
บทสนทนาหัวข้อนี้มีความหมายกับแบรนด์อย่างไร แบรนด์มีโอกาสที่จะเป็นผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์และคอนเซปต์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน โดยการสร้างความน่าเชื่อถือและแบ่งปันความก้าวหน้าและความโปร่งใสในการพัฒนาความยั่งยืนดังกล่าว #earthday, #ถุงผ้า, #recycle และ #greenerychallenge เป็นแฮชแท็กที่ได้รับความนิยม ที่แบรนด์สามารถใช้เพื่อเข้าไปร่วมสนทนาได้
-
Tech Life
เป็นหัวข้อที่มีการพูดคุยสม่ำเสมอบนทวิตเตอร์ประเทศไทย โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลักดันให้คนไทยก้าวไปข้างหน้าตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนได้จากบทสนทนาที่เกี่ยวกับชีวิตด้านเทคโนโลยีบนทวิตเตอร์ประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น 31% ซึ่งสามารถแบ่งเป็นเทรนด์ได้ 3 เรื่อง คือ ชีวิตแบบดิจิทัลของฉัน ใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยี และการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสิ่งดีๆ
ข้อจำกัดในการเดินทางท่องเที่ยวและการทำงานจากที่บ้านทำให้ผู้คนไม่จำเป็นต้องมีรูทีนแบบเดิมๆ อย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป วัฒนธรรมของการทำงานที่บ้าน #WorkFromHome และความต้องการที่จะมีชีวิตการทำงานที่สมดุลสามารถเห็นได้จากบทสนทนาที่เกี่ยวกับเรื่อง “การเชื่อมต่อกันตลอดเวลา” ที่พุ่งสูงขึ้น การมองหาความสะดวกสบายจากเทคโนโลยี เห็นได้จากบทสนทนาที่เกี่ยวกับบ้านอัจฉริยะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้คนไทยยังทวีตถึงการหาตัวช่วยด้านความบันเทิงในบ้านและแชร์ประสบการณ์การใช้งานอีกด้วย
ส่วนรูปแบบการช้อปปิ้งของคนไทยนั้นก็เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล แอปพลิเคชั่นมีการขยายตัวนอกจากแอปบริการส่งอาหาร สู่แอปร้านค้าต่างๆ ผู้ที่ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซต่างได้รับการตอบรับที่ดีจากการที่มีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น
ทิศทางของการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสิ่งดีๆ รวมถึงหัวข้อบทสนทนาที่ว่าบริษัทเทคต่างๆ จะสามารถใช้สถานภาพของตัวเองเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิมในภาพรวมได้อย่างไร บทสนทนาที่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเทคโนโลยีสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม จึงเพิ่มขึ้นสูงถึง 366% รวมถึงเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีความรับผิดชอบและความต้องการที่จะมีเวลาว่างหยุดพักจากการใช้เครื่องมือดิจิทัลบ้าง
บทสนทนาหัวข้อนี้มีความหมายกับแบรนด์อย่างไร แม้ว่าแบรนด์จะคาดหวังกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เหนือคู่แข่ง แต่ก็ควรโฟกัสในสิ่งที่บริษัททำได้ดีที่สุดและให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด เนื่องจากทุกสิ่งคือโอกาสในการสร้างความประหลาดใจและสร้างความสุขให้กับลูกค้าได้เสมอ แต่ขณะเดียวกันก็ควรปรับปรุงประสิทธิภาพและปรับปรุงการมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้าด้วยการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน #ai, #ลำโพงบลูทูธ, #หูฟังไร้สาย, และ #เรียนออนไลน์ เป็นแฮชแท็กส่วนหนึ่งที่ได้รับความนิยม ที่แบรนด์สามารถนำไปใช้เพื่อสร้างบทสนทนาได้
-
My Identity
คนไทยมีความมั่นใจมากขึ้นและสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง บทสนทนาที่เกี่ยวกับ My Identity หรืออัตลักษณ์ของตนเอง จึงเติบโตขึ้น 72% เชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2020 และ 2021 ซึ่งยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
บทสนทนาที่เกี่ยวกับพลังของแฟนคลับเพิ่มขึ้น 21% เนื่องจากคนไทยให้การสนับสนุนไอดอลอยู่แล้วในชีวิตประจำวันและยังแสดงอีกด้านของการเป็นผู้ประกอบการด้วยการผลิตสินค้าของไอดอลที่พวกเขาชื่นชอบออกมาขาย รวมทั้งบทสนทนาที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น เรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม สิทธิมนุษยชน สิทธิต่างๆ ของกลุ่ม LGBTQIA และอื่นๆ อีกมากมายที่มีแรงขับมาจากกลุ่มไพรด์ชาวไทย นอกจากนี้ยังมีบทสนทนาที่เกี่ยวกับตัวเองและประเทศของฉันเติบโตขึ้นสูงถึง 260% เนื่องจากคนไทยเข้าร่วมบทสนทนาเหล่านี้ด้วยความหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับสังคมได้
เนื่องจากพวกเขามีความรู้ที่ว่าทุกการกระทำในวันนี้จะส่งผลต่อทุกชีวิตในอนาคต ทำให้บทสนทนาที่เกี่ยวกับเรื่องอนาคตที่ดีขึ้นเพื่อตัวเองและทุกคนเพิ่มมากขึ้น 40% เนื่องจากคนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในบทสนทนาที่มองการณ์ไกลไปยังอนาคตที่สดใส ความหวังเพื่อคนรุ่นต่อไป และความปรารถนาที่จะมีความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน
บทสนทนาหัวข้อนี้มีความหมายกับแบรนด์อย่างไร การเชื่อมต่อระหว่างผู้คนสามารถสร้างขึ้นได้จากการแบ่งปันความสนใจและให้คุณค่าต่างๆ ร่วมกัน แบรนด์จำเป็นต้องพิจารณาถึงพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมายในแง่ที่ว่าพวกเขาชอบทำอะไร อยากเห็นอะไร ชอบทานอะไร ชอบฟังและชอบเล่นอะไร มากกว่าจะไปค้นหาว่าพวกเขาอาศัยอยู่ที่ไหน อายุเท่าไหร่ ทำอาชีพอะไร ซึ่งเป็นก้าวแรกที่แบรนด์สามารถเพิ่มความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมร่วมกับกลุ่มเป้าหมายได้ #เป็กผลิตโชค, #bbrightvc, #lisa, #LGBTQ และ #MissUniverse เป็นตัวอย่างแฮชแท็กบางส่วนที่ได้รับความนิยมสูง ซึ่งแบรนด์สามารถเริ่มเข้าไปร่วมบทสนทนากับกลุ่มเป้าหมายได้
ทวิตเตอร์เป็นสถานที่ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคได้ก่อตัวขึ้นและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เทรนด์ข้างต้นเหล่านี้จะช่วยให้แบรนด์สามารถเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ และสามารถเชื่อมโยงกับผู้บริโภคผ่านบทสนทนาในหัวข้อเรื่องที่พวกเขาให้ความสนใจ หากต้องการทราบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเทรนด์และเจาะลึกเรื่องการตลาดบนทวิตเตอร์ เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ https://marketing.twitter.com
สามารถติดตามข่าวธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวธุรกิจ
- Samsung – Millennium Auto จัดแคมเปญฉลอง 9.9 ลุ้นรับสมาร์ทโฟนเมื่อจองรถ
- Airbnb ประกาศผู้ชนะ Live Anywhere เตรียมใช้ชีวิต Digital Nomad ในไทย