ข่าวข่าวการเมือง

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดรวมตัว ม็อบ3กันยา 16.00 น.

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดประชาชนร่วมชุมนุม ม็อบ3กันยา ที่แยกราชประสงค์ 16.00 น. มุ่งเน้นกดดันนายกฯและปฏิรูปสถาบัน

เพจเฟซบุ๊ก ธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ออกมานัดประชาชนให้ออกมาร่วมชุมนุม ในเย็นของวันที่ 3 กันยายน นี้ ที่แยกราชประสงค์ โดยไม่ใช่ความรุนแรง พุ่งเป้าขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมปฏิรูปทุกสถาบัน เพื่อรื้อถอนปัญหาทั้งปวง

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ถือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่สามแล้วของประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากผลอภิปรายออกมาว่า ประยุทธ์ได้รับการไว้วางใจจากเสียงในสภา เราก็จะมีนายกฯ คนเดิม แบบไม่ลาออก ไม่ยุบสภา ไม่ปรับครม. เตรียมเริ่มต้นปีที่ 8 กับรัฐบาลเผด็จการที่มีนักแสดงนำเป็นประยุทธ์ต่อไป แต่หากผลอภิปรายออกมาเป็นว่า ไม่ไว้วางใจให้ประยุทธ์และรัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อ หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น?” แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ระบุ

เพจแนวร่วมฯ ระบุอีกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากเก้าอี้นายกฯ หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ได้ ยังคงเป็นไปได้ยากที่จะมีการยุบสภา เนื่องจากหากยุบสภาจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ (หรือมีเพิ่มเติมเหตุผลอื่น) ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งสามารถเป็นไปได้โดยการเลือกจากรายชื่อเดิมที่มีอยู่ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องอาศัยเสียงจาก ส.ส.กับ ส.ว.รวมกัน 376 เสียง หรือไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา

หากเป็นแนวทางนี้ จะทำให้ชื่อของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ประกอบไปด้วย 1.นายชัยเกษม นิติศิริ จากพรรคเพื่อไทย และ 2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จากพรรคภูมิใจไทยเท่านั้น เนื่องด้วยว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกไปก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็มีความประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ลาออกจากการเป็น ส.ส.ไปแล้ว

แต่หากไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสมการ และแคนดิเดตในรายชื่อก็มีจำกัดเช่นนี้ หรือไม่เข้าตาสภาฯ ไม่ถูกใจประชาชน และไม่เหมาะสมที่จะรับมือปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญ จะนำไปสู่การเลือกนายกฯ นอกบัญชีแคนดิเดตที่มี โดยขั้นตอนจะมีดังนี้

1. ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีของแต่ละพรรคการเมืองได้

2. ส.ส. และ ส.ว. มีประชุมร่วมกัน และลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา เพื่ออนุมัติการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก

3. ส.ส. และ ส.ว. มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภาลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และเท่ากับว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก นายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็น่าจะมาจากการตัดสินใจของคนกลุ่มเดิมในระบอบประยุทธ์

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button