‘หมอธีระวัฒน์’ แนะ ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง แก้ปัญหาวัคซีนน้อย
หมอธีระวัฒน์ ปิ้งไอเดีย ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง แก้ปัญหาวัคซีนมีน้อย อ้างผลจากเนเธอร์แลนด์ ชี้ได้ผลเท่ากัน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก แนะนำแนวทางในการฉีดวัคซีนโควิด ในกรณที่วัคซีนมีน้อยหรือขาดแคลน
โดย หมอธีระวัฒน์ ระบุว่า “สถานการณ์ขาดแคลนวัคซีนอย่างหนักกระจายได้ไม่ทั่วนัก อีกทั้งยังต้องฉีด บูสเพิ่มอีกเข็มสำหรับคนเสี่ยงสูงสุด
การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal หรือ ID) เริ่มต้นในปี 1987 โดยพวกเราคนไทยเองแก้ปัญหาวัคซีนไม่พอสำหรับป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้นใช้กลวิธีฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal) โดยใช้ปริมาณ 0.1 ซีซีแทนที่จะใช้ 0.5 ซีซีหรือ 1.0 ซีซี (แล้วแต่ยี่ห้อ) เข้ากล้าม (intramuscular หรือ IM) ทั้งนี้โดยกำหนดให้มีความแรงของวัคซีนที่ชัดเจนและนำไปสู่การใช้ในประเทศไทยในปี 1988 และนำเสนอต่อองค์การอนามัยโลกจนกระทั่งยอมรับใช้ทั่วโลกในปี 1991 และการประชุมล่าสุดในปี 2017 ยังเป็นที่รับรองจนถึงปัจจุบันโดยได้ผลเท่ากันทั้งการกระตุ้นภูมิ (immunigenicity) และประสิทธิภาพในการป้องกันโรค (efficacy)
กลไกในการออกฤทธิ์การฉีดเข้าชั้นผิวหนังของวัคซีนพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นเชื้อตายจะผ่านกลไกที่เรียกว่า Th2 แทนที่จะเป็น Th1 และเราได้รายงานในวารสารวัคซีนในปี 2010 และบรรจุในคู่มือ WHO จนปัจจุบัน
สำหรับวัคซีนโควิดขณะนี้เรามีทั้งวัคซีนเชื้อตาย ชิโนแวค ชิโนฟาร์ม และฝากกับไวรัสเป็น เช่น แอสตร้า เจเจ สปุ๊ตนิค ชนิด mRNA ไฟเซอร์ โมเดนา และแบบชิ้นโปรตีนย่อย ใบยา โนวาแวคซ์
ทางที่น่าจะเป็นได้
1- คนเสี่ยงสูงสุดที่ได้ชิโนแวค IM ไปแล้วสองเข็มต่อด้วยแอสตร้า ID 1 จุด 0.1 ซีซี
(เริ่มมีข้อมูลแล้ว) และกันสายพันธุ์หลากหลายได้
2- คนทั้งประเทศปรับเปลี่ยนเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ID ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อตาย หรือชนิดอื่น ทั้งนี้โดยที่รายงานจากเนเธอร์แลนด์แสดงว่าการฉีดเข้าชั้นผิวหนังของวัคซีน mRNA ในปริมาณน้อยกว่าธรรมดา 5 ถึง 10 เท่า (10 หรือ 20 ไมโครกรัม) แทนที่จะเป็น 100 แบบ IM ได้ผลเช่นกัน
3-คนที่ได้รับการฉีดแบบเข้ากล้าม หรือ IM ไปแล้ว ฉีดให้ครบสูตรทั้งสองเข็ม ไม่สลับ IM ID ในเข็ม 1 และ 2
แต่กระตุ้น เข็ม 3 เป็น ID ได้
เช่นเดียวกันคนฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ID ก็ชั้นผิวหนังตลอดทั้งเข็มหนึ่งและเข็มสอง
ถ้าได้วัคซีนมา 1,000,000 โดสก็จะกลายเป็น 10 ล้านโดส
เราสามารถเก็บข้อมูลตามข้อมูลในขณะที่เริ่มการฉีดเข้าชั้นผิวหนังได้ทันทีเลย
การฉีดเข้าชั้นผิวหนังเหมือนกับการฉีดวัคซีนบีซีจีในเด็กแรกเกิด หรือการฉีดดูปฏิกิริยาวัณโรค (tuberculon test)หรือฉีดในคนที่แพ้ฝุ่นเป็นต้น (desensitization)”