‘พิธา’ ชี้ ‘ล็อกดาวน์’ สูญเปล่า ลั่นต้องเปลี่ยนผู้นำเพื่อรอด
พิธา ชี้ ล็อกดาวน์ สูญเปล่า หลังยอดผู้ป่วยใหม่ทะลุสองหมื่นราย ชี้ทางรอดวิกฤติคือ ประยุทธ์ต้องออกจากตำแหน่งนายกฯ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ออกมาแสดงทัศนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก หลังจากที่ยอดผู้ป่วยใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในวันที่ 4 ส.ค. พบผู้ป่วยใหม่ทะลุสองหมื่นรายเป็นครั้งแรก
โดยนายพิธาระบุว่า “ติดเชื้อทะลุ 20,000 ต่อวัน ผมขอเตือนว่า การล็อกดาวน์กำลังจะสูญเปล่าและเจ็บครั้งนี้ยังไม่เห็นทางจบ ปัญหาของเราไม่ใช่ไม่มีงบประมาณ แต่อยู่ที่ความสามารถในการจัดการของผู้นำ
ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมเคยได้ชี้แจงไว้ว่า ผมไม่ได้คัดค้านการล็อกดาวน์ แต่การล็อกดาวน์ต้องไม่สูญเปล่า ต้องเจ็บแล้วจบ ในขณะนั้นอัตราการตรวจพบเชื้อในไทยสูงกว่า 5% มาติดต่อกัน 2 สัปดาห์ซึ่งเป็นตัวเลขตามเพดานของ WHO ว่าต้องล็อกดาวน์
ตัวเลขอัตราการตรวจพบเชื้อมีนัยยะสำคัญอย่างไร? ในช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังระบาดหนักที่สุด มีอัตราการตรวจพบเชื้ออยู่ที่ 15% ในขณะที่อินเดียมีอัตราการตรวจพบเชื้อนี้ที่ 23%
ในส่วนของประเทศไทยตอนนี้ จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมาพบว่าอัตราการตรวจพบเชื้อโควิดในประเทศไทยสูงถึง 24% และแนวโน้มกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่ากลัว
ตัวเลขนี้ตีความเป็นอื่นไม่ได้เลยนอกเหนือจากหายนะ การล็อกดาวน์ของเรากำลังสูญเปล่า และในครั้งนี้ ประชาชนจะเจ็บแต่ไม่จบ เจ็บแล้วเจ็บเล่า โดยที่รัฐบาลก็อยู่ในสภาวะไร้ประสิทธิภาพเกินกว่าที่จะช่วยเหลืออะไรได้
ผมต้องบอกว่าวิกฤตการณ์ที่รุนแรงขึ้นในขณะนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ล้มเหลวในการจัดการวิกฤติอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่มีการออกมาตรการล็อกดาวน์ มีอำนาจเต็มจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่รวบอำนาจไว้ในมือ และมีเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 2 ฉบับจำนวนเงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
สาเหตุหนึ่งที่อัตราการตรวจพบเชื้อในไทยสูงขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ก็เพราะตัวเลขการตรวจน้อยลง จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในสัปดาห์ 11-17 ก.ค. มีการตรวจเฉลี่ย 6.9 หมื่นตัวอย่างต่อวัน ในสัปดาห์ 18-24 ก.ค. 6.75 หมื่นตัวอย่างต่อวัน ในสัปดาห์ 25-31 ก.ค. 6.18 หมื่นตัวอย่างต่อวัน
การล็อกดาวน์ที่จะไม่ให้สูญเปล่านั้น ต้องมีการตรวจเชิงรุก การตรวจต้องมากขึ้นไม่ใช่น้อยลง เพื่อที่จะแยกปลาออกจากน้ำ เพื่อทำการรักษาและยุติการระบาดให้ได้เร็วที่สุด ตัวอย่างของการตรวจเชิงรุกประชากรทั้งเมืองในต่างประเทศก็มีให้เห็นมาแล้วไม่ว่าจะเป็นเมืองที่ประชากรหลักพันอย่าง Vò ที่อิตาลี[1] หลักหมื่นอย่าง Bolinas, Califormia ที่สหรัฐฯ [2] หลักแสนอย่าง Southampton ที่อังกฤษ [3] และหลักล้านอย่างอู่ฮั่น [4]
ที่ผมกล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลต้องบังคับทุกคนให้มาตรวจโควิด แต่ศักยภาพในการตรวจ RT-PCR ของประเทศเราอยู่ที่ประมาณ 70,000 ตัวอย่างต่อวันและไม่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือน เม.ย. แล้ว รัฐบาลต้องมีการตรวจเชิงรุกและขยายศักยภาพในการตรวจมากกว่านี้
นอกจากนี้การล็อกดาวน์ให้ไม่สูญเปล่า รัฐบาลต้องเยียวยาประชาชนให้ทั่วถึง ผมจึงขอแสดงความกังวลต่อมาตรการเยียวยานายจ้างและลูกจ้างนอกระบบประกันสังคมโดยการให้นายจ้างมาเข้าระบบประกันสังคม เพราะจากแผนการดำเนินงานและแผนการเบิกจ่ายเงินเยียวยาตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ 26/2564 เมื่อ 23 ก.ค. 2564 นั้นนายจ้างที่มาขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่จะต้องได้รับการตรวจสอบข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยจากตารางเวลาการดำเนินงาน อาจจะได้เงินเยียวยาล่าช้าถึงเดือนตุลาคม
ผมขอย้ำอีกครั้ง ว่าปัญหาของรัฐบาลประยุทธ์ไม่ใช่ไม่มีงบประมาณมาใช้ในการเยียวยาประชาชนและแก้ปัญหาโควิด-19
จากที่ผมดูตัวเลขการอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็น และรายการแก้ปัญหาโควิด-19 ของปีงบ 64 ที่ตั้งเอาไว้รวมกัน 140,000 ล้านบาท จากที่ผมสืบค้นได้ใน มติ ครม. (นอกจากนั้นจะมีเอาไปใช้ในทางลับอะไรอีกผมไม่ทราบ) พบว่ามีการอนุมัติแค่ 46,000 ล้านบาท หรือไม่ถึง 1 ใน 3 ของงบกลางที่ขอในปี 64 ไม่นับว่ามีเอกสารสำนักงบประมาณของรัฐสภารายงานว่า ณ วันที่ 30 มิ.ย. 64 มีการเบิกจ่ายแค่ประมาณ 12,000 ล้านบาทเท่านั้น (ไม่ถึง 10%)
นี่ยังไม่นับ พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลออกมาได้จะ 3 เดือนแล้ว แต่ยังเป็น black box หรือ “พื้นที่ดำมืด” ที่เรายังไม่ทราบว่ารัฐบาลเอางบไปทำอะไรบ้าง
ทุกปัญหา เราต้องแก้ให้ตรงจุด ตอนนี้ปัญหาวิกฤตของประเทศไม่ใช่ปัญหางบประมาณ แต่เป็นปัญหาเรื่องความสามารถของผู้นำและคณะ ผมจึงขอเสนอไปยังทุกท่านว่า ถ้าเราอยากออกจากวิกฤตนี้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำและคณะ คืนอำนาจให้ประชาชนรวมถึงแก้ไขปัญหาโครงสร้างการเมืองไทยโดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจ แต่ไร้ความสามารถกลุ่มเดิมกลับมาได้อีกครับ
- ทะลุสองหมื่น! โควิดไทยวันนี้ ป่วยเพิ่ม 20,200 ราย ดับ 188 ศพ
- พิธา ชี้วัคซีน mRNA เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น 2 เรื่อง
- ‘พิธา’ เสนอเร่งพิจารณาเพิ่มเตียงผู้ป่วย ICU คาดความต้องการทวีตัว