ข่าวเศรษฐกิจ

ศธ. แจง ขั้นตอนรับเงินเยียวยาค่าเทอม 2 พันบาท/คน

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาแจงถึง ขั้นตอนรับเงินเยียวยาค่าเทอม หลังจากที่ ครม. มีมติเยียวยาผู้ปกครองเป็นจำนวนเงิน 2 พันบาทต่อคน

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของศธ. ใน 3 มาตรการ วงเงินรวมเกือบ 22,000 ล้านบาทคือ

Advertisements

มาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ โดยให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐและเอกชน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ.ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชั้น อนุบาล-ม.6 และระดับอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน

โดยจ่ายผ่านสถานศึกษา และให้สถานศึกษาจ่ายตรงให้แก่นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณี ในรูปแบบของเงินสด หรือนำเข้าบัญชีธนาคาร รวมประมาณ 11 ล้านคน วงเงินรวมประมาณ 21,600 ล้านบาท

“ศธ.พร้อมจะดำเนินจัดเงินส่วนนี้ให้เร็วที่สุด ต้องดูระเบียบของสำนักงบประมาณด้วย ถ้าทุกอย่างพร้อม ศธ.จะจัดสรรเงินส่งตรงไปที่โรงเรียนได้ทันที และให้โรงเรียนนำให้ผู้ปกครองโดยตรง เบื้องต้นเงิน 2,000 บาทนี้ จะช่วยค่าใช้จ่ายผู้ปกครองในภาคเรียนที่ 1 ส่วนภาคเรียนที่ 2 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ดีขึ้น ศธ.จะพิจารณาในโอกาสต่อไป เบื้องต้นขอให้ช่วยผู้ปกครองในสถานการณ์นี้ก่อน” น.ส.ตรีนุช กล่าว

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า มาตรการที่ 2 การขอความร่วมมือให้กลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนเกินสมควร และจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในโรงเรียน เอกชนกลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐและกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ เพื่อใช้มาตรการตามที่ กำหนดไว้ในมาตรา 32 และ 34 ของพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 เป็นรายกรณี

มาตรการที่ 3 เป็นการลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ ที่ขาดหายไป (Learning Loss) โดยให้สถานศึกษาสามารถถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีการศึกษา 2564 ได้ พร้อมกันนี้จะมีโรงเรียนในสังกัด ศธ.จำนวน 34,887 แห่ง ได้รับการสนับสนุนงบฯเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนรู้และแก้ปัญหาความปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 และ จัดทำสื่อ อุปกรณ์การเรียนรู้ รวมวงเงินรวมประมาณ 400 ล้านบาท

Advertisements

“การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนยึดหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้เรียน ทั้งในสถานศึกษาทั่วไป ด้อยโอกาส ยากจน และกลุ่มเด็กพิการ และจากมติ ครม.ในครั้งนี้จะทำให้ผู้เรียนทุกกลุ่มได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนและการดำรงชีวิต ทำให้มีความพร้อมในการเรียน ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกันสถานศึกษาก็ได้รับการสนับสนุน เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ เพื่อลดช่องว่าง การเรียนรู้ และผลกระทบด้านความรู้ของนักเรียน นักศึกษาที่ขาดหายไป และในส่วนของผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ได้รับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ของบุตรหลานเพิ่มเติมมากขึ้น ” น.ส.ตรีนุช กล่าว

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัด ศธ.และนอกสังกัด ศธ.ที่ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 2,000 บาท จำนวนรวมเกือบ 11 ล้านคน ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ รวมทั้งสิ้น ประมาณ 9.8 ล้านคน

ส่วนสถานศึกษานอกสังกัด ศธ.มีทั้งสิ้นประมาณ 1.2 ล้านคน ประกอบด้วยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร และสถานศึกษาสังกัดเมืองพัทยา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวแทนโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ส่งจดหมายขออุทธรณ์กรณีการพิจารณาเงินช่วยเหลือผู้ปกครองในสถานการณ์โควิด-19 ของ ศธ. ว่าอาจจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะคิดเข้าใจว่ารัฐช่วยเหลือเฉพาะสถานศึกษาที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเท่านั้น

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า การช่วยเหลือครั้งนี้ รัฐบาลดูแลเด็กทุกคนและสถานศึกษาทุกสังกัด รวมทั้งโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐด้วย

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button