ชัชชาติ แนะ 3 แนวทางบรรเทาสถานการณ์ โควิด-19
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว. คมนาคม ได้ทำการโพสต์แนะนำถึงแนวทางบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 3 แนวทางด้วยกัน
เมื่อวานนี้ (8 ก.ค. 2564) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว. คมนาคม ได้ทำการโพสต์บนช่องทางเพจเฟซบุ๊คส่วนตัวถึงการมอบเครื่องทำออกซิเจน (Oxygen Concentrator) แก่ รพ.ราชพิพัฒน์ และกลุ่มคลองเตยดีจัง พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางในการบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในเวลานี้ด้วยกัน 3 ประการ
เนื้อหาของโพสต์ดังกล่าวนั้นมีด้วยกันดังนี้
เมื่อวานทีม #เพื่อนชัชชาติ นำเครื่องทำออกซิเจน (Oxygen Concentrator) ที่ตอนนี้กำลังหายากมาก ไปมอบให้ Hospitel ของ รพ.ราชพิพัฒน์ ที่ทวีวัฒนา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัด กทม. จำนวน 25 เครื่อง และ มอบให้ครูแอ๋ม กลุ่มคลองเตยดีจัง จำนวน 5 เครื่อง
ได้ไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการผู้ป่วยที่ Hospitel ของ รพ.ราชพิพัฒน์ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี แล้วประทับใจครับ คุณหมอ พยาบาล ทุกคนลุยกันเต็มที่ จัดทำระบบขึ้นมาใหม่ เพื่อรับคนไข้เตียงเขียว จำนวน 400 เตียง
ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนมาแล้วสามารถเช็คอินเข้าห้องเองได้เลย มีระบบการสื่อสารทางไลน์ติดต่อ ในห้องมีเครื่องวัดอุณหภูมิ วัดระดับออกซิเจน วัดความดัน โดยผู้ป่วยวัดเอง กรอกข้อมูลใน google form ส่งเข้าระบบ
พยาบาลที่ศูนย์กลางสามารถติดตามอาการได้อย่างต่อเนื่อง และ มีการ Zoom คุยกับผู้ป่วยตลอด เป็นการบริหารจัดการที่ดีมาก ลดความเสี่ยงเจ้าหน้าที่ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อนในทีมที่ไปด้วยถึงกับพูดว่า เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าภาษีที่จ่ายไปได้ถูกใช้อย่างคุ้มค่า
ส่วนครูแอ๋มที่คลองเตย สถานการณ์ก็หนักขึ้นครับ มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น และ ตกค้างอยู่ในชุมชนและวัดสะพานเป็นหลักร้อยคน หลายคนที่ตกค้างกว่าจะได้ตรวจหรือได้เตียง ก็อาการหนักเป็นสีเหลืองแล้ว เครื่องทำออกซิเจนที่ให้ไป วันนี้ครูแอ๋มให้อาสาสมัครนำออกไปใช้ช่วยคนป่วยที่หายใจลำบากทันที คุยกับครูแอ๋มและทีมงาน คิดว่าทางออกที่เร่งด่วนที่สุด (ที่พูดกันมาเหมือนๆกันหลายคน หลายครั้ง แต่ก็ต้องพูดอีก) คือ
- เร่งตรวจเชิงรุก อาจใช้ Rapid AntigenTest คัดกรองเบื้องต้นสำหรับผู้มีความเสี่ยงหรือมีอาการ ถ้าเป็นบวกค่อยส่งทำ Swab อีกที (เหมือนที่ อบจ.ปทุมธานีทำ) เพื่อจะได้แยกคนป่วยออกก่อน และ จำกัดการแพร่กระจาย การไม่ตรวจ ทำให้ไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริง และ ยิ่งทำให้เกิดการกระจายของโรคที่รุนแรงขึ้น
- เร่งขยาย รพ.สนาม Hospitel หรือ ศูนย์พักคอย เพื่อให้คนป่วย ที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ออกจากชุมชน ลดการแพร่กระจายเชื้อ และ เข้าสู่การดูอาการและให้ยาเบื้องต้น ศูนย์พักคอยควรจะเป็นที่ที่เดินทางสะดวก อาจจะเช่าพื้นที่เอกชนเลย เช่น ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค โรงแรม ศูนย์ประชุม ค่ายทหาร สถานที่ราชการ ตอนนี้การหาเตียงเป็นเรื่องวิกฤติอันดับต้นๆของคนกรุงเทพแล้วครับ
- เร่งฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน
การล็อคดาวน์หรือหยุดกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ทำสามข้อข้างต้น ไม่น่าจะเกิดประโยชน์เต็มที่เพราะตอนนี้คนที่ติดเชื้อกระจายอยู่ทั่วไปแล้ว ต้องแยกออกมาเพื่อรักษาและป้องกันการแพร่เชื้อให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้น อาจจะกลายเป็นเจ็บเพิ่มอีกแต่ก็ไม่จบครับ
แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
สามารถติดตามข่าวโควิด-19 เพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวโควิด-19
- โควิดวันนี้ 10 จังหวัดผู้ติดเชื้อใหม่ กทม. นิวไฮต่อเนื่อง 3,116 ราย
- ไฟเซอร์ ยื่นทางการสหรัฐฯ ขอฉีดวัคซีนกระตุ้นสู้ โควิดเดลต้า