ข่าว

หมอนิธิพัฒน์ ฉะแผนเปิดประเทศ 120 วัน ทั้งที่บริหารประเทศกันแบบนี้

จริงทุกอย่าง หมอนิธิพัฒน์ โพสต์ถามประเทศนี้จะมีตัวอย่างธรรมาภิบาลห้ลูกหลานดูเป็นตัวอย่างกันบ้างไหม จวกนโยบายเปิดประเทศทั้งทั้โควิดลุกลามหนัก

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ถาม ประเทศนี้จะมี ตัวอย่างธรรมาภิบาล ให้ลูกหลานดูเป็นตัวอย่างบ้างไหม มีที่ไหนปัญหาใหญ่ยังไม่ทันเคลียร์เรียบร้อย แต่เตรียมจะเปิดรับปัญหาระลอกใหม่มาเพิ่ม

คุณหมอ นิธิพัฒน์ ได้โพสต์ความเห็นในวันนี้ (22 มิ.ย.) พร้อมกับติดแฮชแท็ก #มือไม่พายอย่าใช้อะไรราน้ำ โดยภาพประกอบบทความหนึ่งในนั้นมีรูปของ พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งประกาศเปิดประเทศ 120 วัน ไปเมื่อไม่นานนี้

ประเด็นแรก บ้านนี้เมืองนี้ มีตัวอย่าง การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นตัวอย่างบ้างไหม พร้อมยกตัวอย่าง ปัญหาโควิด-19 ยังคั่งค้าง แต่เตรียมเปิดประเทศ

“บ้านนี้เมืองนี้ มีตัวอย่างธรรมาภิบาล (good governance) ให้ลูกหลานดูเป็นตัวอย่างกันบ้างไหม ไล่มาจากระดับหัวเรือใหญ่ที่ประกาศกระชากใจภาคการแพทย์ด้วยการเตรียมการเปิดประเทศ ยังสงสัยว่าอาจจะเป็น 120 วันอันตรายได้ ถ้าไม่มีแผนเคลียร์ปัญหาโควิด-19 ที่ยังคั่งค้าง (back log) ขณะนี้ให้ชัดเจน ”

ประเด็นต่อมา ผู้มีหน้าที่รองลงมากระจายวัคซีนได้น่ากังขา

“ระดับรองมาหน่อยเป็นแผนกระจายวัคซีนเดือนหน้า มีจังหวัดชายแดนบางจังหวัดที่ไม่มีช่องทางผ่านแดนเป็นทางการ แต่อยู่ในข่ายได้รับวัคซีนในระดับสอง (อาจด้วยเหตุผลเมืองกีฬา ซึ่งคงมีอีกหลายเมืองไม่น้อยหน้ากัน) รองมาอีกนิดก็ขอแบ่งวัคซีนดื้อๆ จากลูกน้องในหัวเมืองเพื่อเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ แต่ไปไม่รอดต้องรีบกลับลำ และหน่วยงานท้ายสุดที่กระดี๊กระด๊า ชกลมรอมาหลายรอบ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในเมืองหลวงไข่แดงประเทศ ที่ครองแชมป์ต่อเนื่องยาวนานในระลอกสามของผู้ติดเชื้อสูงสุด รวมไปถึงยอดผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ และยอดผู้เสียชีวิต ซึ่งถึงเวลาที่โพสต์นี้ยังไม่มีแววจะลดลงได้ โดยไม่มีมาตรการประกอบการผ่อนคลายที่ชัดเจนว่าจะควบคุมไม่ให้มีการละเมิดอย่างไร”

สุดท้ายปัญหาไปตกกับหน่วยงานแถวหน้า อย่าง หมอ พยาบาล โดยที่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร เมื่อผู้มีหน้าที่หลัก ยังทำงานกันแบบนี้

“ช่วง 3-4 วันนี้ ใครอยู่ในแวดวงการบริหารจัดการเตียงระดับ 3 ในเขตกทม. สำหรับรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรงและอาการวิกฤตระหว่างโรงพยาบาล ต้องกุมขมับเพราะสถานการณ์เตียงเริ่มคับขัน จนกลับไปเหมือนเมื่อปลายเดือนที่แล้วที่หลายคนอยากกลั้นใจตาย แถมผู้ป่วยหนักระลอกใหม่นี้มีสัดส่วนที่สูงซึ่งเป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง และมีหลายรายที่สืบสาวหาต้นตอการรับเชื้อไม่ได้ชัดเจน ซึ่งหมายถึงเชื้อได้ระบาดซึมลึกเข้าไปในชุมชนทั่วไปแล้ว ไม่ได้อยู่แต่ในกลุ่มก้อนทั้งใหม่และเก่าที่โผล่ขึ้นมามากมายเป็นดอกเห็ดจนจดจำกันไม่หวาดไม่ไหว”

“ก่อนจะคิดก่อนจะทำอะไร เคยถามและรับฟังอย่างใส่ใจ จากภาคการแพทย์ส่วนที่เขาทำงานกันอยู่อย่างหนักหน่วงบ้างไหม”

“จะโทษส่วนน้อยของภาคการแพทย์ที่ชงข้อมูลซึ่งขัดความรู้สึกส่วนใหญ่ขึ้นมาให้ก็คงใช่ที่ เพราะคำพูดที่ออกสู่สาธารณะแล้ว ถือเป็นสัญญาประชาคมแบบหนึ่งที่ผู้พูดต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว แต่ดินแดนสารขัณฑ์แห่งนี้มีตัวอย่างให้เห็นกันมามากมายแล้วในอดีตว่า คำพูดไม่เคยเป็นนายคน (ที่ไม่มีธรรมาภิบาล) เหมือนดังคนโบราณสอนสั่ง”

#มือไม่พายอย่าใช้อะไรราน้ำ

สนใจทำประกันโควิด-19 กับ Tadoo คลิก

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button