ข่าวข่าวการเมือง

เพื่อไทย แฉ รัฐบาล ตัดงบสาธารณสุข ครั้งแรกในรอบ 12 ปี

เพื่อไทย เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 พบว่ามีการ ตัดงบสาธารณสุข ครั้งแรกในรอบ 12 ปี

เพจเฟซบุ๊กของ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กเปิดเผยว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้ตัดงบประทรวงสาธารณสุขเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี และลดลงมากถึง 4.3 พันล้านบาท คิดเป็นติดลบ 2.74%

Advertisements

โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศที่เป็นรูปธรรมได้ยิ่งในสถานการณ์โควิดซึ่งต้องใช้งบประมาณด้วยความประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ แต่กลับมองไม่เห็น ฟังไม่ได้ยินทุกข์ของประชาชน

นายประเสริฐ​ กล่าวต่อว่า การใช้งบประมาณในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระบบราชการมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น มีการใช้งบประมาณจำนวนมากในขณะที่จำนวนงบประมาณหรือเรื่องของอำนาจของประชาชนเล็กลง เมื่อดูจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ตั้งไว้ 2.3 ล้านล้านบาทจากงบในยอดรวม 3.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 76.15 % ของงบประมาณที่จัดตั้งไว้ นอกจากนั้นงบรายจ่ายเพื่อการลงทุน ที่ตั้งไว้สัดส่วนร้อยละ 20 หรือคิดเป็นเงินจำนวน 624,000 ล้านบาท ซึ่งงบส่วนหนึ่งเป็นงบที่อยู่ในกระทรวงกลาโหมในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือเรื่องรัฐวิสาหกิจที่มีทั้งหมด 52 แห่ง ที่หลายแห่งประสบผลขาดทุน ล้วนเป็นปัญหาที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ปัญหาของการบินไทยที่ยังต้องอาศัยวงเงินงบประมาณในการแก้ปัญหา ชี้ให้เห็นความล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี การแต่งตั้งผู้บริหารในรัฐวิสาหกิจต่างๆ 50 กว่าแห่ง เกือบทั้งหมดเป็นทหารที่เป็นพวกพ้องของนายกรัฐมนตรี และหลายคนเป็นการตอบแทนบุญคุณเมื่อครั้นมีการทำรัฐประหารมา ไม่มีความรู้ความสามารถโดยตรง นอกจากนั้นรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง

เช่น องค์การคลังสินค้าที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เคยมีปัญหาทุจริต เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของประเทศ มิติการบริหารราชการแผ่นดินและการทุจริตที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่อยู่บนพื้นฐานความเดือดร้อนของประชาชน มีการหาผลประโยชน์จากงบประมาณขององค์กรขนาดใหญ่ มองประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประชาชน” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ตนมีข้อสังเกตในเรื่องการจัดทำงบประมาณ 2565 ทั้งหมด 5 ข้อ คือ 1. การจัดทำงบประมาณไม่สะท้อนกับการแก้ไขปัญหาของประเทศ ยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณที่นายกฯ ได้กล่าวไปทั้ง 6 ด้าน ไม่มีการกล่าวถึงยุทธศาสตร์ด้านโควิด ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจ แต่รัฐบาลทำเหมือนว่าประเทศไม่ได้อยู่ในวิกฤต ทำไมไม่มีการจัดงบประมาณในยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูประเทศจากโควิด

Advertisements

เมื่อการจัดสรรงบประมาณไม่สะท้อนปัญหาของประเทศส่งผลให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไปไม่ถึงไหน แต่กลับไม่สามารถใช้กลไกของงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาได้ การอัดฉีดเม็ดเงินลงแต่ละครั้งไม่ว่าจะเงิน SMEs ล้วนแต่เป็นเงินที่ไม่ถึงคนโดยส่วนรวม และหลายครั้งมีเงื่อนไขมากมาย จน SMEs หลายแห่งต้องล้มหายตายจากเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงเงินทุน อีกทั้งปัญหาว่างงานในระบบประกันสังคมที่สูงขึ้น

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า 2. การไร้ประสิทธิภาพในการใช้เงินงบประมาณ ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ใช้วงเงินงบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งสิ้น 20.8 ล้านล้านบาทและกำลังจะใช้ในปี 65 อีก 3.1 ล้านล้านบาทแต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้ โดยมีอัตราการเจริญเติบโตแค่ 1% เหมือนครั้งที่ให้ใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาเศรษฐกิจติดลบถึง 2.6 % ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง 9.2%

3. มีการตัดงบประมาณที่สำคัญหลายจุด แต่งบกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่างบกระทรวงสาธารณสุขลดลงมากถึง 4.3 พันล้านบาท คิดเป็นติดลบ 2.74% ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลดงบด้านสุขภาพคนไทยลดลงถ้วนหน้าจนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคล้วนแต่ถูกตัดงบประมาณ เช่น กรมควบคุมโรคติดต่อถูกตัดงบประมาณ 480 ล้านบาท เทียบกับปีที่แล้วลดลง 12% กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถูกตัดงบมากถึง 10% เหลืองบน้อยที่สุดในรอบ 6 ปี สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้งบประมาณเพียง 22 ล้านบาท

ทั้งที่ประเทศมีปัญหาเรื่องวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงหลักในการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดแต่การจัดงบประมาณใน ปี 65 รัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญกับกระทรวงนี้เท่าที่ควร ทั้งยังมีการจัดตั้งศบค.ขึ้นมา ประกอบด้วยฝ่ายความมั่นคงที่เป็นทหารมาควบคุมซึ่งไม่มีความรู้ด้านระบาดวิทยา การดำเนินการของศบค.เป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่งถึงความล้มเหลว โดยเฉพาะเรื่องการกระจายวัคซีน

กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณในปีงบประมาณ 64 คิดเป็นร้อยละ 6.5 และในปี 65 ได้งบประมาณคิดเป็นร้อยละ 6.6 ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาโควิด กองทัพได้นำเงินไปจัดซื้อยุทโธปกรณ์ 3 เหล่าทัพ เป็นเงินจำนวนมากกว่า 8,274 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมงบผูกพันข้ามปีที่เกิดระหว่างปี 65-68 จำนวน 88,969 ล้าน เป็นของกองทัพเรือ 37,849 ล้านบาท ในการจัดซื้อเรือดำน้ำแบบจีทูจีกับรัฐบาลจีน

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า 4. การกระจายงบประมาณไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง เห็นได้ชัดจากการกระจายวัคซีนแบบไร้ยุทธศาสตร์ การประกาศว่าการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติเป็นวาทกรรมที่สวยหรู พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยบอกรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร การกระจายวัคซีนในจังหวัดพื้นที่สีแดงน้อยกว่าจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีขาวและพื้นที่สีเขียว

แม้กระทั่งส.ส.ฝ่ายรัฐบาลยังออกมาตำหนิการทำงานของรัฐบาลว่าการกระจายวัคซีนไม่เป็นธรรม มีการเล่นพรรคเล่นพวกกลายเป็นศึกชิงวัคซีนที่จัดสรรไม่หลากหลาย ไม่รวดเร็ว ไม่ทั่วถึงและไม่ทันการณ์ ตนจะคอยดูว่าวันที่ 7 มิ.ย. การฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้าแบบปูพรมจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ วันนี้ยังไม่มีใครกล้าบอกว่าจะได้วัคซีนวันไหน และหากวัคซีนไม่มา พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ ผอ.ศบค.ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

และ 5.การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น จากผลกระทบของโควิดส่งผลให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งมีรายได้ลดลง ซึ่งเกิดจากกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นขยายเวลาการจัดเก็บภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดอัตราการจัดเก็บลดถึง 90% ส่งผลกระทบต่อรายได้ส่วนท้องถิ่น แต่รัฐบาลกลับตัดลดงบประมาณท้องถิ่นลง 73,261 ล้านบาท ลดเงินอุดหนุนให้องค์กรท้องถิ่นลงอีก 15,988 ล้านบาท หากวันนี้รัฐบาลกล้าให้อำนาจท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพของประชาชน

วันนี้คนไทยหลายคนจะได้ฉีดวัคซีนโดยใช้การบริหารงานของท้องถิ่น สิ่งที่เกิดวันนี้คือวิกฤตศรัทธาในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการทำงานว่าหากปล่อยให้พล.อ.ประยุทธ์ บริหารเงินปี 2565 จะสามารถพาประเทศพ้นวิกฤตไปได้อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาแล้ว 7 ปีเพิ่งประกาศเรื่องการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติแสดงว่าที่ผ่านมาไม่เคยให้ความสนใจเรื่องนี้เลย ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 104 จาก 180 ในประเทศทั่วโลก การประกาศเรื่องนี้จึงเป็นวาทกรรมที่สวยหรูอีกเรื่อง ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงไม่สามารถรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ได้

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button