‘ศิริกัญญา’ ชวน ปชช. จับดู พ.ร.ก.เงินกู้ มูลค่า 7 แสนล้านบาท
ศิริกัญญา ชวนประชาชนจับตาดู พ.ร.ก.เงินกู้ เพิ่มอีกกว่า 700,000 ล้านบาท เผยกังวลกลัวซ้ำรอยงบประมาณโควิดมูลค่า 1 ล้านล้านบาท
พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้าน – นางสาว ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กชวนให้ประชาชนจับตา พ.ร.ก. เงินกู้ และการขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกองทัพที่กำลังพิจารณาอยู่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี
โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “วันนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี มีเรื่องสำคัญที่เราต้องจับตาดูคือกระทรวงการคลังได้ขออนุมัติ พ.ร.ก. เงินกู้เพิ่มเติมอีก 700,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินเพิ่มเติมจากวงเงินกู้เดิมตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ที่ได้มีการอนุมัติงบประมาณไปเกือบเต็มวงเงินแล้ว” ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แสดงความเห็น
นอกจากนี้ ศิริกัญญา ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าร่าง พ.ร.ก. กู้เงินของกระทรวงการคลังเป็นเอกสารแค่ 4 หน้า กรอบแผนงานการใช้เงิน เขียนสั้นๆ แบ่งเป็น 3 แผนเหมือน พ.ร.ก. เงินกู้เดิมทุกประการ เพียงแต่ปรับลดวงเงินลง โดยแบ่งเป็น
- แผนงานด้านสาธารณสุข ลดลงเหลือ 30,000 ล้านบาท
- แผนงานเยียวยาประชาชน ลดลงเหลือ 400,000 ล้านบาท
- แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ลดลงเหลือ 270,000 ล้านบาท
“การออก พ.ร.ก. เงินกู้ครั้งนี้น่าเป็นห่วง เพราะโครงสร้างแผนงานและกลไกการอนุมัติโครงการแทบจะเหมือน พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน ทุกประการ ดังนั้น เราคงคาดหวังได้ยากว่าใน พ.ร.ก. เงินกู้ตัวใหม่รัฐบาลจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งบประมาณให้ดีขึ้น”
“พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่รัฐบาลออกมาในปีที่แล้วเห็นได้ชัดแล้วว่านอกจากโครงการที่เป็นเงินโอนแล้ว โครงการอื่น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศอนุมัติได้น้อย การเบิกจ่ายล่าช้า ตัวโครงการไม่มีความสมเหตุสมผล”
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแผนงานด้านสาธารณสุขที่งบประมาณเดิมมีการเบิกจ่ายแค่ไม่ถึง 30% อุปกรณ์การแพทย์กว่า 2,500 รายการ ในจำนวนนี้มีเครื่องช่วยหายใจ 1,000 เครื่อง งบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ 170 ล้านชิ้น ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว ทั้งหมดนี้ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินเลย แม้แต่เพียงบาทเดียว”
ศิริกัญญายังกล่าวเพิ่มเติมไปอีกว่า แผนงานฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจก็ผ่านมา 1 ปี เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานใหม่ 400,000 ตำแหน่ง, เกษตรกร 95,000 ราย มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตนเองได้, มีพื้นที่เกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้น 5 ล้านไร่ พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 1.7 แสนไร่ และพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 7,900 ล้าน ลบ.ม. ก็เป็นได้แค่ลมปาก ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
โครงการเรือธงอย่าง “โคก หนอง นา โมเดล” มีถึง 2 โครงการใช้ชื่อต่างกัน มี 2 หน่วยงานที่ทำเรื่องเดียวกัน เรื่องนี้ สตง. ได้ออกมาชี้เป้าแล้วว่าโครงการภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน มีความเสี่ยงในการใช้เงิน เพราะมีการแก้ไขไม่ว่าจะเป็น การดำเนินโครงการล่าช้ากว่าแผน หน่วยงานไม่พร้อมในการดำเนินการ และการดำเนินโครงการมีความเสี่ยงที่จะไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะมีการแก้เงื่อนไขการดำเนินงานหลังอนุมัติ เช่น ลดเป้าหมายเกษตรกรตำบลละ 16 คน เหลือตำบลละ 2 คน เป็นต้น
“เรามีบทเรียนการใช้เงินกู้ของประชาชนที่ไม่มีประสิทธิภาพมาแล้ว 1 ปี ในสถานการณ์ปัจจุบัน การกู้เงินเพิ่มเพื่อเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจมีความจำเป็น แต่เราอยากเห็นการกู้แบบมีความรับผิดชอบ ที่มีการคิดเสร็จแล้ว มีรายละเอียดพร้อม มีกลไกเร่งรัดการเบิกจ่าย มีการประเมินกำลังหน่วยงานรัฐว่าไหวไหม ถ้าไม่ไหวอย่าเอาไป เสียของ! ซึ่งยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลนี้ไม่มีความสามารถมากพอที่จะดูแลเงินกู้ก้อนใหม่ให้ประชาชนได้” ศิริกัญญา กล่าว
นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ศิริกัญญาทิ้งท้ายให้จับตาในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการที่กระทรวงกลาโหมทำหนังสือลับมาก ด่วนมาก ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายแก้ปัญหาโควิด-19 ของกระทรวงกลาโหม
“การของบประมาณในครั้งนี้ กระทรวงกลาโหมขอใช้งบกลางประมาณ 387 ล้านบาท หลายเรื่องเป็นภารกิจของกองทัพอยู่แล้ว เช่น การสกัดกั้นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่บริเวณชายแดน 80 ล้านบาท การเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนามของกองทัพ 100 ล้านบาท”
“แต่ที่น่าติดใจเท่ากับส่วนที่ใหญ่ที่สุด 207 ล้านบาท ที่เป็นค่าใช้จ่ายของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ที่เป็นการใช้เงินเพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังพลในการรับมือกับสถานการณ์ชุมนุม ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับการรับมือแก้ปัญหาโควิด-19 เลย รัฐบาลต้องตอบคำถามเรื่องนี้กับประชาชนให้ชัดด้วย” ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย
- ศบค. ไม่สั่งแก้ นโยบายปรับพื้นที่สีโควิด ให้ สธ-จังหวัด ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแทน
- ไทย หนี้สาธารณะไทยทะยาน 7.8 ล้านล้าน 49.34% ของ GDP
- โควิดไทยวันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 3,394 ราย ดับ 29 ศพ