‘สุพิศาล’ โพสต์ข้อความขอโทษวิญญาณ ‘อากง SMS’
สุพิศาล โพสต์ข้อความขอโทษหลังชาวเน็ตพบ มีส่วนร่วมจับกุม อากง SMS ในข้อหา ม.112 ลั่นขอใช้เวลาทั้งชีวิตแก้ไขความผิดพลาด
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ขออภัยต่อดวงวิญญาณของ ‘อากง SMS’ หรือ อำพล ตั้งนพกุล ผู้ถูกกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ชาวเน็ตได้ค้นพบว่า พล.ต.ต สุพิศาล อยู่ในทีมจับกุม อากง SMS ด้วย
โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “จากกรณีที่มีการสอบถามกันเข้ามาถึงประเด็นที่ผมในฐานะผู้บังคับการกองปราบปราม มีส่วนร่วมในการจับกุมอากง หรือคุณอำพล ตั้งนพกุล เมื่อปี 2553 ในข้อหาเกี่ยวกับมาตรา 112 นั้น ผมขอน้อมรับความผิดในการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวในขณะที่มีหน้าที่ในภาครัฐ ปี 2554 และขออภัยต่อดวงวิญญาณอากงและครอบครัว รวมถึงขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ทุกคนที่อาจจะเกิดจากการทำงานในหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาแล้วด้วย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์เปลี่ยนไป แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงถือปฏิบัติเช่นเดิมตลอดมา เวลาผ่าน ความเข้าใจของสังคมก็เปลี่ยนตามไปด้วย ผมตระหนักแล้วว่าการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้และมาตราอื่นๆ ตลอดจน กฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีแต่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน รัฐบาล และสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่ำแย่ลงจากความไม่เป็นธรรมในหลายแง่มุม ด้วยน้ำมือของผู้ควบคุมและกำกับ ตลอดจนนโยบายเป็นสำคัญ
งานการเมือง โดยเฉพาะ ส.ส.ต้องมีหน้าที่และอำนาจ ในการตราออก แก้ กฎหมาย เพื่อให้เป็นธรรมจึงสำคัญยิ่ง
และด้วยตระหนักว่าไม่สามารถแก้ไขความผิดพลาดในอดีตได้ แต่สามารถมุ่งมั่นลงมือทำงานเพื่อแก้ไขปัจจุบัน และกำหนดอนาคตของสังคมที่ดีกว่านี้ได้ ผมจึงตัดสินใจเข้าทำงานการเมืองอย่างเต็มตัว ในปี 2561 ร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ และต่อมาคือพรรคก้าวไกล เนื่องจากเห็นด้วยกับนโยบายด้านการปฏิรูปกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน
ผมภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งใน ส.ส. และเป็นอดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขปรับปรุงชุดกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน รวมถึงมาตรา 112 ด้วยและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
แม้สิ่งที่ผมทำจะไม่สามารถทดแทนความผิดพลาดได้ และคงไม่ทำให้ครอบครัวอากงให้อภัยผม แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ดังนั้น หลังจากนี้จะขอใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อทำงานแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวในอดีตเดิมที่อยู่ในวังวนของการครอบงำ ในอาณัติ การที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งภายใต้รัฐราชการ อันเป็นการจำกัดสิทธิพลเมืองบางอย่างออกไปด้วยตามกฏหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เราทุกคนควรจะมีสิทธิอันพึงมีที่เท่ากันนะครับ”