นายก หารือที่ปรึกษา เร่งสรุปแนวทาง และจัดการการแพร่ระบาดของ โควิด-19
นายก รัฐมนตรี หารือคณะที่ปรึกษา สรุปแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อ และจัดการการแพร่ระบาด โควิด-19 ดำเนินการด้วยความเร่งด่วนอย่างมีประสิทธิภาพ
นายก โควิด-19 – นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
โดยที่ประชุม ได้มีความเห็นว่า การระบาดระลอกใหม่ของโลกในครั้งนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการบริหารจัดการที่ผ่านมาเป็นอย่างดี จนนำไปสู่การผ่อนคลายกฏเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันเกือบเป็นปรกติ โดยที่ผ่านมาอาจจะมีการระบาดเกิดขึ้นเป็นกลุ่มจังหวัด ก็ไม่มีการล็อกดาวน์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นอกจากนี้ การระบาดระลอกเมษา 64 นี้ มาเร็ว และกระจายตัวเร็วจนสร้างความวิตกกังวลแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก แม้ว่าไทยจะมีความพร้อมในการรับมือการระบาดครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีในวันนี้ และเห็นควรที่จะดำเนินการดังนี้
- ด้านการจัดการ: ให้มีการยกระดับ ศบค. โดยให้เป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเหมือนเดิม หลังจากที่ได้มีการผ่อนคลายและให้อำนาจกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ดูแลไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาและการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน จะสามารถดำเนินการได้เบ็ดเสร็จและรวดเร็วยิ่งขึ้น
- ด้านการคัดกรอง: ได้มอบหมายให้ ศบค. ดำเนินการจัดให้มีศูนย์คัดกรองของรัฐในทุกจังหวัด โดยจังหวัดขนาดใหญ่ เช่น กทม. จำเป็นต้องมีหลายจุดเพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และหากพบผู้ติดเชื้อต้องมีการจัดส่งไปยังสถานที่รักษาที่เหมาะสม โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต้องดูแลให้มีความเพียงพอ
- ด้านการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ: จัดให้โรงพยาบาลสนามที่พร้อมรับดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เฝ้าระมัดระวังอาการ ส่วนผู้ที่มีอาการเริ่มต้น และที่มีอาการหนัก ต้องจัดให้มีสถานพยาบาล รองรับ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือสถานพักเอกชน โดย ศบค. จะกำกับและติดตามกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้จัดสถานพยาบาลให้มีเพียงพอกับผู้ที่ติดเชื้อ
- ด้านการฉีควัคซีน: ศบค. จะเข้ามาดูแลการจัดสรรที่ควบคู่กันไปกับ บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง ภาคธุรกิจ และประชาชน โดยความสามารถในการฉีดวัคซีน จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน จัดสถานที่ที่เหมาะสม ลดการแออัดของโรงพยาบาล ที่ต้องมุ่งเน้นในการดูแลผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้เป้าหมายต้องฉีดวัคซีนทั้งประเทศให้ได้อย่างน้อย 3 แสนโดสต่อวัน และภายใน 4 เดือน คนไทยประมาณร้อยละ 60 ของกลุ่มเป้าหมาย หรือคิดเป็นประชาชนจำนวน 30 ล้านคน ที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และให้ครบ 50 ล้านคน อย่างน้อยเข็มแรกภายในอย่างช้าไม่เกินสิ้นปี 2564 นี้
- สถานะการจัดหาวัคซีนของไทยภายในอีก 4 เดือนข้างหน้านี้ (พค.- สค 64) จะมีสัญญาที่ยืนยันจัดส่งแล้ว 28 ล้านโดส โดยทั้งปีรวมกัน 63 ล้านโดส และอยู่ในระหว่างการเจรจาอีก 40 ล้านโดส จากหลายผู้ผลิต ซึ่งน่าจะได้รับทราบผลเร็วๆ นี้ สำหรับในส่วนระบบการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน ได้มีการเตรียมระบบ ”หมอพร้อม” เพื่อรองรับการลงทะเบียนของประชาชน ที่จะเริ่มในวันที่ 1 พค. 64 นี้ ซึ่งหากระบบดังกล่าวขัดข้องหรือไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะมีระบบที่ได้เตรียมสำรองไว้แล้วโดยธนาคารกรุงไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง
นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า รัฐบาลได้เตรียมการเรื่องนี้เป็นอย่างดี คนไทยกว่า 50 ล้านคนจะได้รับการฉีดวัคซีนภายในปี 2564 นี้อย่างแน่นอน และงบประมาณก็มีเพียงพอที่จะจัดหาวัคซีนได้อีกมาก
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น ได้มอบหมายให้ ศบค. เร่งดำเนินการในแต่ละด้าน และรายงานกลับมาถึง นายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์หน้า โดยแสดงตัวเลขความเพียงพอในทุกมิติ เช่น จำนวนผู้เข้ามาคัดกรอง จำนวนเตียงที่ว่าง จำนวนยาที่ใช้รักษา จำนวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวนการฉีดวัคซีน เป็นต้น
และให้ ศบค. รายงานให้ ประชาชนทราบทุกวัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และในวันพุธที่ 28 เม.ย. ที่จะถึงนี้ ก็จะนำเรื่องต่างๆ ที่ได้สรุปในวันนี้นำเข้าหารือกับภาคเอกชน ที่แสดงตนมาช่วยรัฐบาลในเรื่องนี้ ว่ามีเรื่องใดที่ซ้ำซ้อน และเรื่องใดที่เสริมกันได้ โดยจะแบ่งหน้าที่กันไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน โดย นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคครั้งนี้ไปด้วยกันอีกครั้ง
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวการเมืองเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวการเมือง