จับตา ศาล รธน. ชี้อำนาจ รัฐสภาตั้ง ส.ส.ร. แก้รัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมนัดแถลง ชี้อำนาจ รัฐสภา ตั้ง ส.ส.ร. แก้รัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับได้หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ออกได้สามหน้า
แก้รัฐธรรมนูญ – ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจาและวินิจฉัย กรณีอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา
ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ในเวลาประมาณ 09.30 น. กรณีดังกล่าว นายสติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นมีความเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ
1. รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2534 มีการเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยมี ส.ส.ร.
2. รัฐสภาไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร. ได้ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจรัฐสภาเท่านั้น
3. ศาลจะออกคำวินิจฉัยแบบกลางๆ และต้องตีความต่อ เช่น รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 อยู่แล้ว ส่วนจะแก้อย่างไร หรือเนื้อหาชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ส.ส. และ ส.ว. สามารถเข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้ภายหลังผ่านวาระ 3 ก่อนขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
ก่อนหน้านี้ประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งยังอยู่ระหว่างพิจารณา ประเด็นที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งกรรมาธิการพิจารณาฯ ได้ปรับแก้ไข ให้มาจากการเลือกตั้ง 200 คน
ซึ่งต่างจากร่างเดิมที่รับหลักการ กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัด 150 คน, สมาชิกรัฐสภาคัดเลือก 20 คน , ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยคัดเลือก 20 คนและคัดเลือกจากนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาจำนวน 10 คน
ที่มาข่าว : สำนักข่าวไทย
- รัฐสภา ให้อำนาจ ส.ส.ร. 200 คน จากเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่
- สุดารัตน์ ประณาม ส.ส. ลงมติ ส่งศาล ตีความร่างแก้ไข รธน.
- รังสิมันต์ โรม ชวนจับตาประชุมพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 2 พยายามให้ รธน.แก้ยากขึ้น