เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี เสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์เยือน สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี เสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ ไป สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง วันที่ 2-3 มี.ค. 64
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยัง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เฝ้ารับเสด็จ
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2512 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานที่ทำการวิจัย ทดลองพืชเขตหนาว เป็นอาชีพแก่ชาวเขาทดแทนฝิ่น โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,500 บาท แก่ชาวเขาเพื่อชดเชยค่าพันธุ์ไม้ในพื้นที่
จากการดำเนินงานที่ยาวนาน จึงเกิดพืชเมืองหนาวกว่า 200 ชนิด ที่สร้างอาชีพแก่ชาวเขาบนพื้นที่สูงในประเทศไทย และยังพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรบนที่สูงแบบครบวงจร
ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสนพระทัยในผลผลิตนานาชนิด ซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารคุณภาพ นอกจากจะอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังมีความปลอดภัย อาทิ
- “เห็ดพอตโตเบลโล” เห็ดในตระกูลเห็ดกระดุม มีรสชาติอร่อยคล้ายเนื้อสัตว์
- สตรอว์เบอร์รีกว่า 37 สายพันธุ์ โดยพันธุ์ใหม่ล่าสุดที่ส่งเสริมแก่เกษตรกร 145 ราย ในบริเวณดอยอ่างขาง คือ “สตรอว์เบอร์รี พันธุ์พระราชทาน 88” ที่สร้างรายได้กว่า 12 ล้านบาท
- ผักเมืองหนาวกว่า 120 ชนิด อาทิ “ผักตระกูลสลัด” “สมุนไพร” “สวิสชาร์ด” “มะเขือเทศ” “ขึ้นช่าย” มีปลูกหมุนเวียนตลอดปีในโรงเรือนขนาดใหญ่ เพื่อเป็นจุดเรียนรู้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชม
- “อาร์ติโช๊ค” ผักยอดนิยมของชาวอิตาเลี่ยน มีคุณค่าทางอาหารสูง ส่วนกลีบดอกอ่อนรสชาติหวานซุ่มคอ นิยมนำไปลวกชุปแป้งทอด หรือรับประทานกับน้ำสลัด
จุดเด่นสำคัญของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คือ “สวนบ๊วย” ซึ่งมีต้นบ๊วยอายุ 47 ปี ทรงต้นสูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านสวยงาม และขณะนี้ออกผลเต็มต้นพร้อมเก็บเกี่ยว
“หัตถกรรมชนเผ่า” ที่โดดเด่น ได้แก่ ผ้าทอกี่เอวของชนเผ่าดาราอั้งซึ่งย้อมสีธรรมชาติ เครื่องแต่งกายชนเผ่าที่มีเอกลักษณ์ สีสันสดใส สวยงาม ชนเผ่าลาหู่ เจ้าของกำไลหญ้าอิบูแค และตระกร้าสานอากากุ ภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังเป็นสินค้าที่สร้างรายได้แก่ชุมชนอีกด้วย
ที่มา: Facebook – โครงการหลวง
- พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า สิริวัณณวรี เสด็จเป็นประธานงานส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ ผ้าไทย สู่สากล
- เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทรงปลูกปะการัง ปล่อยสัตว์ทะเล ทำความสะอาดหาด
- เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี เสด็จเยือนวัดพระธาตุเชิงชุม และทรงฟ้อนรำกับประชาชน