กรมอุทยาน โต้ จตุจักร ไม่ใช่แหล่งแพร่โรค โควิด
กรมอุทยาน ร่ายยาวตอบโต้สื่อต่างชาติหลังมีรายงานว่า จตุจักร เป็นแหล่งแพร่โรคโควิด-19 เป็นที่แรกก่อนตลาดนัดอู่ฮั่น ในประเทศจีน
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ดำเนินการสำรวจและเก็บตัวอย่างสัตว์ที่ค้าในตลาดจตุจักร เพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่ม สัตว์กลุ่มกระรอก กลุ่มแมว กลุ่มสุนัข กลุ่มหนู กระต่าย และสัตว์ต่างประเทศ เช่น ลิงมาโมเสท เม่นแคระ เมียร์แคท ชูการ์ไกลเดอร์ ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา
ปรากฏว่า ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรน่า ในสัตว์ที่มีการค้าขายในตลาดจตุจักร
ดังนั้น ข้อมูลที่กล่าวว่าไทยอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (SARS-CoV-2) นั้น จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทั้งนี้สัตว์ที่มีการค้าในตลาดจตุจักรเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์และค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสัตว์ต่างประเทศที่นำเข้าอย่างถูกกฎหมาย โดยมีชุดปฏิบัติการ 1362 ของกรมอุทยานฯ เข้าตรวจตรา ป้องกันการกระทำผิด
รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันโรคจากสัตว์ป่าสู่คนอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของประเด็นที่สำนักข่าว สปุตนิก อ้างว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ถูกพบในเลือดของค้างคาวเกือกม้า 5 ตัว ที่อาศัยอยู่ในถ้ำจำลองของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งทางตะวันออกของไทย ซึ่งคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าเลือดของค้างคาวฝูงนี้ มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สูงถึงร้อยละ 91.5 นั้น
ด้านนักวิจัยของไทย ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มค้างคาวมงกุฎ (หรือค้างคาวเกือกม้าที่กล่าวถึงในข่าว) ในหลายพื้นที่ และถ้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่
ดำเนินการเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวและเลือด เพื่อทำการตรวจหาไวรัสโคโรน่า 2019 โดยความร่วมมือทางวิชาการกับโปรแกรมการศึกษาและวิจัยโรคอุบัติใหม่ มหาวิทยาลัย Duke-NUS พบว่าไวรัสที่ตรวจพบในค้างคาวมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไวรัสโคโรน่า 2019 ประมาณ 91% ไม่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้