เตือน! ยาคลายเครียดผงสีชมพู ผสม ยาอี – ยาบ้า
ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้ออกคำเตือนถึง ยาคลายเครียดผงสีชมพู จากการตรวจสอบพบว่ามีส่วนผสมของ ยาอี – ยาบ้า อยู่ในตัวยาดังกล่าว
ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้รับตัวอย่างจากสถานีตำรวจในพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีชมพูปนเกล็ดสีขาว ที่ถูกเรียกว่า ยาคลายเครียดผงสีชมพู ตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดและตัวยาอื่นๆ พบว่า มีส่วนผสมของตัวยาเมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (ยาอี) และเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ชี้หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้เกิดอาการติดยาเสพติด ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม และปัญหายาเสพติดตามมาได้
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้รับตัวอย่างจากสถานีตำรวจในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีชมพูปนเกล็ดสีขาว น้ำหนักประมาณ 3.14 กรัม บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสซิปล็อค ไม่มีฉลากแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบ เลขสารบบ และสถานที่ผลิตใดๆ ได้ทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสารเสพติดและตัวยาอื่นๆ ที่ผสมในตัวอย่างดังกล่าว
ด้วยเทคนิค Gas Chromatography Massspectrometry (GC-MS) ผลการทดสอบ พบว่า มีส่วนผสมของตัวยาเมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (Methylenedioxymethamphetamine ; MDMA) หรือยาอี และเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) หรือยาบ้า ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ทั้งนี้ได้รายงานผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อป้องกันนำไปใช้ในทางที่ผิด และเฝ้าระวังการแพร่ระบาด ของยาดังกล่าวในพื้นที่
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลของตำรวจที่ได้สอบถามผู้บริโภคแล้วให้การว่า กินยาคลายเครียด ซึ่งยาคลายเครียดหรือยานอนหลับ ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ต่อสมองและมีผลข้างเคียง เช่น อาการติดยา ถ้าไม่ได้กิน ไม่หลับ ดื้อยา ฤทธิ์ยาตกค้าง เป็นต้น หากกินไปเพื่อคลายเครียดหรือติดต่อกัน เป็นเวลานาน อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้เกิดอาการติดยาเสพติด ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม และปัญหา ยาเสพติดตามมาได้
นายแพทย์ศุภกิจ ได้กล่าวว่า “จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงผลิตภัณฑ์ยาคลายเครียดที่มีความเสี่ยงในชุมชน ซึ่งอาจได้รับยาจำพวกยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ได้โดยไม่รู้เท่าทัน หากประชาชนต้องการใช้ยากลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลในครอบครัวหรือชุมชนได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และขอความร่วมมือ จากประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตรายในชุมชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไป”
แหล่งที่มาของข่าว : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
สามารถติดตามข่าวทั่วไปเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวทั่วไป
- สุนัขจรจัดกัด เรียกค่าเสียหายจากกรมปศุสัตว์ได้ เป็นข่าวบิดเบือน
- ผอ.ชักปืนหน้าเสาธง โดนให้ ออกราชการ ด้านตร.เทพา แจ้งเพิ่มอีก 2 ข้อหา