Fair Finance Thailand ประกาศ คะแนนความเป็นธรรม ธนาคาร ปีที่ 3
Fair Finance Thailand ประกาศคะแนนความเป็นธรรมของ ธนาคาร / แบงค์พาณิชย์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ใน “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน” พร้อมจัดสัมมนาออนไลน์ระดมสมอง “พลังของธนาคาร เพื่อก้าวข้ามวิกฤติสู่ความยั่งยืน”
20 มกราคม64/กรุงเทพฯ – แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) จัดแถลงข่าวการประกาศผล “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” การประเมินผลความเป็นธรรมของ ธนาคาร พาณิชย์ในประเทศไทย ตามแนวทาง Fair Finance Guide International อีกทั้งยังจัดสัมมนาออนไลน์ “พลังของธนาคารเพื่อก้าวข้ามวิกฤติสู่ความยั่งยืน” โดยตัวแทนจาก 2 ธนาคารพาณิชย์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิบูรณะนิเวศ
สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) กล่าวถึงการประกาศผล “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” ในครั้งนี้ว่า “Fair Finance เป็น Movement ระดับโลกที่ใช้ “ดัชนี” เป็น “เครื่องมือ” สำหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคมมาประเมินธนาคารว่าทำได้ดีแค่ไหน และต่อรองว่าธนาคารควรเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อความยั่งยืน
ซึ่งเราจัดทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในการประเมินธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนให้ความสนใจกับการประเมินธนาคาร เนื่องจากธนาคารเป็นผู้รวบรวบเงินฝากของเราและคนจำนวนมหาศาล แต่ทุกวันนี้เราแทบไม่รู้เลยว่าธนาคารนำเงินฝากของเราไปทำอะไร หรือลงทุน สนับสนุนในโครงการหรือธุรกิจอะไรบ้าง
หากธนาคารเลือกปฏิบัติกับลูกค้า ลงทุนกับโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ ส่งผลเสียไปถึงผลกำไรและชื่อเสียง ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมาก รวมทั้งเราและเงินฝากของเรา ในฐานะที่เราฝากเงินกับธนาคาร การให้ความสนใจจึงเป็นเรื่องจำเป็น
เพื่อคอยช่วยกันระแวดระวังผลักดันให้ธนาคารทำงานด้วยความจริงใจ รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนระยะยาว สำหรับคะแนนในปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่ามีทั้งธนาคารที่ได้คะแนนสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ธนาคารที่ได้คะแนนไม่ต่างจากเดิม และธนาคารที่ได้คะแนนน้อยลง แต่พบการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างธนาคาร 6 อันดับแรก ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี”
ในการประเมินผล “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” Fair Finance Thailand ได้นำเกณฑ์ประเมิน Fair Finance Guide Methodology ฉบับปรับปรุง ค.ศ. 2020 มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ 8 แห่ง และยังเป็นครั้งแรก ที่ได้มีการประเมินธนาคารเฉพาะกิจของภาครัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน,ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
โดยมีหัวข้อประเมิน ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การทุจริตคอร์รัปชัน
- ความเท่าเทียมทางเพศ
- สิทธิมนุษยชน
- สิทธิแรงงาน
- ธรรมชาติ
- ภาษี
- อาวุธ
- การคุ้มครองผู้บริโภค
- การขยายบริการทางการเงิน
- การตอบแทน
- ความโปร่งใสและความรับผิด
- และในปีนี้ได้เพิ่มหมวดใหม่ คือ “สุขภาพ”
รวมเป็นทั้งหมด 13 หัวข้อ ซึ่งการประเมินนโยบายที่เปิดเผยต่อสาธารณะของธนาคาร คณะวิจัยฯ ได้ใช้เวลาศึกษาตั้งแต่สิงหาคม – ตุลาคม พ.ศ. 2563 โดยคะแนนรวมคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์
สำหรับผลการประเมิน “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” มีดังนี้
- ธนาคารทหารไทย 38.9%
- ธนาคารกรุงไทย 22.4%
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 22.1%
- ธนาคารกรุงเทพ 21.8%
- ธนาคารไทยพาณิชย์ 21.1%
- ธนาคารกสิกรไทย 20.6%
- ธนาคากรุงศรีอยุธยา 16.9%
- ธนาคารเกียรตินาคิน 16.1%
- ธนาคารทิสโก้ 15.9%
- ธนาคารออมสิน 15.4%
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 11.1%
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 8.3%
โดยมีค่าเฉลี่ยในการประเมิน คิดเป็น 19.4% ซึ่งมีธนาคาร 6 แห่งที่ได้คะแนนสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย คือ ธนาคารอันดับที่ 1 ถึง 6 ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามหลักการธนาคารที่ยั่งยืนและการเงินที่เป็นธรรมที่สูงกว่าแค่ปฏิบัติตามกฎหมาย
สฤณีกล่าวว่า “ธนาคารทหารไทยได้คะแนนค่อนข้างมากจากการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านการประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) และรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) โดยจัดทำประกาศนโยบายสินเชื่อ รวมถึงรายการสินเชื่อต้องห้ามที่มีความชัดเจนและตรงต่อประเด็นกังวลของภาคประชาสังคมโลก เช่น การมีรายการสินเชื่อต้องห้าม รวมการค้าไม้จากป่าดิบชื้นปฐมภูมิ (primary tropical moist forest), โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองถ่านหิน, จำกัดสินเชื่ออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไม่เกิน 10% ของสินเชื่อธุรกิจ เป็นต้น
แม้ธนาคารอื่นๆ โดยรวมยังไม่มีประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) และรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ที่ชัดเจน ซึ่ง Fair Finance Thailand เองเชื่อมั่นว่าธนาคารทุกแห่งจะสามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้ เพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่เป็นธรรมและยั่งยืนโดยแท้จริง”
สฤณีกล่าวเสริมว่า “ผลการประเมินประจำปี พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ต่างแข่งขันกันจัดทำและเปิดเผยนโยบายต่อสาธารณะ และเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ส่วนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบางแห่งเริ่มมีนโยบายด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน รวมถึงธนาคารแต่ละแห่งต่างพัฒนาการด้านการขยายบริการทางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากการการประกาศผล “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” ทาง Fair Finance Thailand ยังได้จัดงานสัมมนาออนไลน์เพื่อระดมความคิดร่วมกันพูดคุยในประเด็น “นโยบายความยั่งยืนของแต่ละธนาคาร จะพาสังคมไทยออกจากวิกฤติไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร” โดยตัวแทนจาก 2 ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่
- นริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้กล่าวถึงจุดเน้นสำคัญในยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืนของธนาคาร จากวันนี้สู่อีก 3 ปีข้างหน้า ว่า “หน้าที่ของธนาคาร คือ การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า ธนาคารมีความสำคัญไม่ใช่แค่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า แต่เป็นการทำให้สุขภาพทางการเงินของประชาชนดีขึ้น
- เป้าหมายของธนาคารคือ ตอบชีวิตทางการเงินที่ดีของลูกค้า ซึ่งในตอนนี้ประชาชนเองก็ได้มีปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือน และผลกระทบจาก Covid-19 ทางธนาคารจึงต้องเตรียมความพร้อมให้ผู้บริโภค ซึ่งธนาคารเองได้มีการปรับตัวให้เหมาะสมไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าแต่ต้องไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ
- อีกทั้งยังนำเอานโยบาย Environmental and Social Responsibility มาช่วยขับเคลื่อนในเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่ดี (Responsible Lending)”
- ด้าน กฤษณ์ ฉมาภิสิษฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า “ธนาคารกรุงไทยนั้นได้เน้นเรื่องการนำเสนอบริการทางการเงินให้กับทั้งลูกค้าของธนาคาร และที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคาร ที่ผ่านเน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยด้านการเงิน เพื่อความมั่นใจให้ประชาชน และให้ความรู้ในการใช้งาน
- สำหรับช่วง Covid-19 ที่ผ่านมาธนาคารเองได้มีบทบาทในการขยายบริการ เชื่อมความช่วยเหลือระหว่างรัฐและประชาชน อีกทั้งยังได้นำเทคโนโลยีทางการเงินเรื่องของการระดมทุนมาใช้นำความความช่วยเหลือเข้าไปในชุมชน และยังได้พัฒนาการทำ Digital Lending เพื่อเป็นอีกทางในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น”
อีกทั้งยังร่วมพูดคุยกับ นฤมล เมฆบริสุทธิ์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้พูดถึงวิกฤติหนี้ครัวเรือนหลัง Covid-19 และความท้ายทายของธนาคารในการคุ้มครองผู้บริโภค ว่า “จากวิกฤตที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคในปัญหาเรื่องหนี้จำนวนมาก ทางมูลนิธิได้รวบรวมปัญหาและต้องการทำข้อเสนอ ถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนี้ ขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงธันวาคม 2564 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL”
และเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง, มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้นำเสนอเกี่ยวกับบทบาทที่ซ่อนอยู่ของธนาคารต่อปัญหา PM 2.5 และปัญหาขยะล้นประเทศ โดยเสนอว่าธนาคารพาณิชย์ “ให้มีการพิจารณาการให้สินเชื่อพิเศษ/เงื่อนไขประกอบการให้สินเชื่อแก่กิจการอุตสาหกรรมที่มีนโยบายลดการปล่อยมลพิษอากาศ เช่น ผู้ประกอบการที่ติดตั้งอุปกรณ์การควบคุมและระบบการลดการปล่อยมลพิษอากาศ
เช่น ฝุ่นขนาดเล็ก สารมลพิษ/สารก่อมะเร็ง ผู้ลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัด บำบัด และรีไชเคิลของเสีย และมาตรการควบคุมมลพิษ/การจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการที่สนใจติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดการใช้พลังาน และลงทุนก่อสร้างอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนกิจการที่ส่งเสริมความปลอดภัยของคนงานในสถานประกอบการฯ และมีนโยบายติดตามผลการดำเนินงานจากการให้สินเชื่อเกี่ยวกับการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามผลการประเมิน “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” และบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ Facebook: Fair Finance Thailand หรือ https://fairfinancethailand.org/bank-guide/policy-scores/
สามารถติดตามข่าวทางการเงินได้ที่นี่ : ข่าวการเงิน
- มาตรการช่วยเหลือโควิด ทุกธนาคาร รวมไว้ที่นี่! อ่านเลย
- ตลาดหุ้นไทย ช่วงเช้า 21/01/64 : Set เปิดประเดิมลอยตัว
- รบ. ทุ่ม 600 บาท ซื้ออุปกรณ์ ให้ สยามไบโอไซเอนซ์
- กระทรวงการคลัง เผยโอกาสมี คนละครึ่งเฟส 3 หากเมษายนเศรษฐกิจยังไม่ดี