สภา น.ศ. มหิดล จุฬา เกษตรศาสตร์ รุม ประณาม การจับกุม นิว น.ศ.มธ.
สภา น.ศ. สามมหาวิทยาลัยดังได้ร่วมกัน ประณาม ใช้ ม.112 ในการเข้าจับกุม นิว น.ศ.มธ. เมื่อช่วงดึกของวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้อง จนท. หยุดใช้กฎหมายดังกล่าว
สภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เพื่อประณามการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้ มาตรา 112 ในการเข้าจับกุม นาย สิริชัย นาถึง หรือนิว นศ.มธ ในช่วงวันที่ 13 ถึง 14 มกราคม ที่ผ่านมา
โดยในเอกสารที่ทั้งสามมหาวิทยาลัยเผยแพร่ได้เขียนตรงกันว่า
“แถลงการณ์
สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และสภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เรื่อง ประณามการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อวันที่ 13 – 14 มกราคม 2564
ตามที่ได้มีการจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อคืนวันที่ 13 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา และเหตุการณ์ได้ต่อเนื่องมายังวันที่ 14 มกราคม 2564 ซึ่งมีการจับกุมตัวนักศึกษาคนดังกล่าวอีกครั้งด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์มาตรา 27 ดังที่ปรากฏในสื่อสังคมอย่างแพร่หลาย ผู้แทนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่งจึงออกแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนของผู้แทนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
ผู้แทนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง ขอยืนยันในหลักเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของประชาชนอย่างอิสระ (Freedom of Speech) อันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่ม ผู้ชุมนุมที่ผ่านมานั้นมีเจตนาเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองภายใต้หลักการทางประชาธิปไตย มิได้มีเจตนาเพื่อดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด
การกล่าวอ้างถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะสามารถตีความได้ว่า มิได้มีเจตนาเพื่อรักษาไว้ซึ่งพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ไทย แต่เป็นการดำเนินคดีเพื่อหวังผลการฟ้องร้องเชิงกลยุทธ์ต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน (Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยดังที่กล่าวไปข้างต้น
อีกทั้งการเข้าจับกุมตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคืนวันที่ 13 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักมนุษยธรรม ทั้งในด้านของหลักความเสมอภาค (Principle of Equality) หลักความเป็นอิสระ (Principle of Independence) และหลักความเป็นกลาง (Principle of Neutrality) ซึ่งเป็นหลักสากลในการบังคับใช้กฎหมายในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
นอกจากนี้การบุกจับกุมตัวเยาวชนในยามวิกาลด้วยคดีทางการเมือง ในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติทางด้านสาธารณสุข อาจแสดงให้เห็นถึงการขาดมนุษยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ และความบกพร่องในการใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลอีกด้วย
ผู้แทนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง จึงขอแสดงความเป็นกังวลต่อท่าทีการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาลยุติการใช้กฎหมายเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยให้คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) หลักนิติรัฐ (Legal State) หลักนิติธรรม (Rule of Law) และกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ภายใต้กรอบของสหประชาชาติ
ก่อนจะบังคับใช้กฎหมาย หรือกระทำต่อผู้ต้องหาอย่างเกินกว่าเหตุ และเหนือสิ่งอื่นใด ผู้แทนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง ขอเรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม ตัวแทนสมาชิกรัฐสภา และตัวแทนคณะรัฐมนตรี ในการหารือร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกให้กับประเทศต่อไป