PM2.5 คือ ส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ผลกระทบ รุนแรงกว่าที่คิด
PM2.5 คือ ผลกระทบ รุนแรงกว่าที่คิด ส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
ช่วงนี้ชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศอีกครั้ง กับ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่พุ่งสูงขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะวันที่ 15 ธ.ค. 63 มีพื้นที่ที่ฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงส่งผลกระทบต่อสุขภาพถึง 66 จุด และเว็บไซต์วัดอากาศชื่อดัง ตรวจพบว่า ค่ามลพิษทางอากาศพุ่งขึ้นไปสูงสุดถึงอันดับ 3 ของโลก ในวันนี้ หลายคนสงสัยไหมว่าฝุ่น PM2.5 คืออะไร และมีที่มาอย่างไร ส่งผลกระทบอะไรต่อร่างกายบ้าง
- วราวุธ ขอความเห็นประชาชน แก้ปัญหา PM 2.5 ยันกำลังหามาตรการเพิ่ม
- 15 ธ.ค. 63 PM 2.5 กรุงเทพ มลพิษทางอากาศ พุ่งสูงสุดอันดับ 3 ของโลก
- 15 ธ.ค. 63 กรุงเทพและปริมณฑล PM2.5 เกินมาตรฐาน 69 พื้นที่
PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กระดับอนุภาค เล็กมากไม่เกิน 2.5 ไมครอน แต่รู้หรือไม่ว่า จมูกของคนเรามีขนจมูกคอยกรองฝุ่นละออง โชคร้ายที่มันกรองได้แค่ฝุ่นขนาด 10 ไมครอน เล็กระดับ PM2.5 สูดเข้าไปคือเข้าปอดเต็ม ๆ
PM 2.5 เกิดจากอะไร มาจากไหน
ปัจจุบัน เป็นที่เข้าใจกันว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กระดับ PM 2.5 เกิดจากการใช้กิจกรรมของมนุษย์ เช่น ยานพาหนะ กิจกรรมก่อสร้าง กิจกรรมอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่น ทีนี่ปกติสภาพอากาศจะมีลมพัดทำให้ฝุ่นกระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ไม่เกาะกลุ่มรวมตัว แต่ถ้าอากาศพอเหมาะพอเจาะ เย็นกำลังดีปะทะอากาศอุ่น ไม่เกิดลม เมื่อลมไม่พัด อากาศก็ไม่หมุนเวียน ฝุ่นก็สะสม ละอองก็จับตัว จับกับหมอก ปะปนในอากาศ เกิดเป็นฝุ่นหนาที่เราเห็น
PM 2.5 ผลกระทบต่อร่างกาย
ฝุ่นละออง PM 2.5 เมื่อสูดดมเข้าไปมาก ๆ จะเกิดการตกค้างในร่างกาย ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคติดเชื้อจากระบบหายใจ โรคปอดอุดตันเรื้อรัง โรคปอดอักเสบ ร้ายแรงถึงขั้นมะเร็งปอด
กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจาก PM2.5 ได้แก่ เด็กที่ยังร่างกายเจริญเติบโตไม่เต็มที่ หญิงที่กำลังตั้งท้อง คนชรา ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
สังเกตอาการตนเอง คุณกำลังแพ้ฝุ่น PM2.5
หากคุณอยู่ในบริเวณที่มีค่ามลพิษ PM 2.5 สูง หากร่างกายส่งสัญญาณถึงความผิดปกติ ดังต่อไปนี้ให้รีบพบแพทย์ มีอาการระคายเคืองเยื่อบุ เช่น ดวงตา ระบบทางเดินหายใจ ทำให้ไอ จาม หายใจติดขัด แน่นหน้าอก มีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ มีอาการผื่นแดงที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล
หน้ากากอนามัย แบบไหนกัน PM 2.5 ได้
หน้ากากอนามัยปกติ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ สามารถกรองฝุ่นละอองได้เล็กสุดแค่ 3 ไมครอน ซึ่ง PM 2.5 เล็กกว่า แนะนำให้หาซื้อหน้ากาก N95 ซึ่งสามารถกันฝุ่นขนาดเล็กได้ รวมถึง หน้ากาก FFP1-FFP2 ด้วย