รู้จักไวรัสอีโบลา
รู้จักไวรัสอีโบลา
โรคไวรัสอีโบลา หรือ ไข้เลือดออกอีโบลา เป็นโรคของมนุษย์ที่เกิดจากไวรัสอีโบลา อาการและอาการแสดงของอีโบลาปกติเริ่มขึ้นเฉียบพลันด้วยขั้นคล้ายไข้หวัดใหญ่โดยมีรู้สึกเหนื่อย ไข้ ปวดศีรษะ และปวดข้อ กล้ามเนื้อและท้อง นอกจากนี้ อาการอาเจียน ท้องร่วงและไม่อยากอาหารยังพบทั่วไป อาการที่พบน้อยกว่ามีเจ็บคอ เจ็บหน้าอก สะอึก หายใจลำบากและกลืนลำบาก เวลาเฉลี่ยระหว่างได้รับเชื้อจนเริ่มมีอาการ คือ 8 ถึง 10 วัน แต่เกิดได้ระหว่าง 2 ถึง 21 วัน ที่ผิวหนังอาจมีผื่นจุดราบและผื่นนูน [maculopapular rash] (ในราว 50% ของผู้ป่วย) อาการเริ่มแรกของโรคไวรัสอีโบลาอาจคล้ายกับอาการเริ่มแรกของมาลาเรีย ไข้เด็งกี หรือไข้เขตร้อนอื่น ก่อนโรคดำเนินเข้าสู่ระยะเลือดออก
ในระยะเลือดออก อาจมีเลือดออกภายในและใต้หนังผ่านตาแดงและอาเจียนเป็นเลือด เลือดออกเข้าสู่ผิวหนังอาจก่อให้เกิดจุดเลือดออก, เพอร์พิวรา (กาฬม่วง), เลือดออกใต้ผิวและก้อนเลือด (hematoma) (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบที่ฉีดเข็ม)
ผู้ป่วยทุกรายมีอาการบางอย่างของระบบไหลเวียน รวมถึงเลือดจับลิ่มบกพร่อง มีรายงานเลือดออกจากที่เจาะและเนื้อเยื่อเมือก (เช่น ทางเดินอาหาร จมูก ช่องคลอดและเหงือก) ใน 40–50% ของผู้ป่วย ชนิดของเลือดออกที่ทราบว่าเกิดกับโรคไวรัสอีโบลารวมถึงอาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นเลือด เลือดออกหนักพบน้อยและปกติจำกัดอยู่เฉพาะทางเดินอาหาร
การแพร่เชื้อ
ไม่เป็นที่ทราบทั้งหมดว่าอีโบลาแพร่อย่างไร เชื่อว่าโรคไวรัสอีโบลาเกิดหลังไวรัสอีโบลาแพร่สู่มนุษย์ทีแรกโดยการสัมผัสกับสารน้ำร่างกายของสัตว์ที่ติดเชื้อ การแพร่เชื้อจากคนสู่คนเกิดได้ผ่านการสัมผัสกับเลือดหรือสารน้ำร่างกายจากผู้ติดเชื้อโดยตรง (รวมการฉีดดองศพผู้ตายที่ติดเชื้อ) หรือโดยการสัมผัสกับเวชภัณฑ์ที่ปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข็มและกระบอกฉีดยา การแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสทางปากและผ่านการสัมผัสทางเยื่อบุตาน่าจะเป็นไปได้ และยืนยันแล้วในไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์ แนวโน้มการติดเชื้อโรคไวรัสอีโบลาเป็นวงกว้างนั้นถือว่าต่ำ เพราะโรคนี้แพร่เฉพาะโดยการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยที่มีอาการเท่านั้น การเริ่มต้นอาการที่รวดเร็วทำให้การระบุผู้ป่วยและจำกัดความสามารถของบุคคลในการแพร่โรคด้วยการเดินทางง่ายขึ้น เนื่องจากศพผู้เสียชีวิตยังติดเชื้อได้ แพทย์บางคนจึงต้องใช้มาตรการเพื่อกำจัดศพในทางที่ปลอดภัยแม้ขัดต่อพิธีกรรมฝังศพของท้องถิ่น
เจ้าหน้าที่การแพทย์ที่ไม่สวมเสื้อผ้าป้องกันที่เหมาะสมอาจสัมผัสเชื้อได้ในอดีต การแพร่เชื้อที่ได้มาจากโรงพยาบาลเกิดในโรงพยาบาลในทวีปแอฟริกาเนื่องจากการใช้เข็มซ้ำและขาดการป้องกันสากล
โรคไวรัสอีโบลาไม่แพร่เชื้อผ่านอากาศตามธรรมชาติ ทว่าไวรัสยังแพร่เชื้อได้เพราะละอองที่สร้างจากห้องปฏิบัติการขนาด 0.8–1.2 ไมโครเมตรที่หายใจเข้าไปได้ เนื่องจากช่องทางติดเชื้อที่เป็นไปได้นี้ ไวรัสเหล่านี้จึงถูกจัดเป็นอาวุธชีวภาพหมวดเอ ล่าสุด ไวรัสได้แสดงว่าแพร่จากหมูสู่ไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์ได้โดยไม่ต้องสัมผัส
ค้างคาวถ่ายเอาผลไม้และเนื้อที่กินแล้วบางส่วนออกมา แล้วสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมอย่างกอริลลาและไดเคอร์ (duiker) กินผลไม้ที่ตกลงมาเหล่านั้น ลูกโซ่เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดวิธีการแพร่เชื้อโดยอ้อมที่เป็นไปได้ผ่านตัวถูกเบียนธรรมชาติสู่ประชากรสัตว์ ซึ่งนำไปสู่การวิจัยสู่การกำจัดไวรัสในน้ำลายของค้างคาว การผลิตผลไม้ พฤติกรรมของสัตว์ และปัจจัยอื่นที่ต่างกันไปในแต่ละเวลาและสถานที่อาจกระตุ้นให้เกิดการระบาดในหมู่ประชากรสัตว์
การวินิจฉัย
ประวัติผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติการท่องเที่ยวและทำงานร่วมกับการสัมผัสสัตว์ป่าสำคัญต่อการสงสัยวินิจฉัยโรคไวรัสอีโบลา ยืนยันการวินิจฉัยโดยการแยกไวรัส ตรวจหาอาร์เอ็นเอหรือโปรตีนไวรัส หรือตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อไวรัสในเลือดของบุคคล การแยกไวรัสโดยการเพาะเลี้ยงเซลล์ การตรวจหาอาร์เอ็นเอไวรัสโดยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (PCR) และการตรวจหาโปรตีนโดยวิธีอีไลซา (ELISA) มีประสิทธิภาพเร็วและในผู้ที่เสียชีวิตจากโรค การตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อไวรัสมีประสิทธิภาพช้าในโรคและในผู้ที่ฟื้นตัว
ระหว่างการระบาด การแยกไวรัสมักเป็นไปไม่ได้ วิธีการวินิจฉัยที่ใช้มากที่สุดจึงเป็นเรียลไทม์ PCR และการตรวจโปรตีนด้วย ELISA ซึ่งสามารถทำได้ในโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลเคลื่อนที่ พบและระบุวิริออนฟิโลไวรัสได้ในการเพาะเลี้ยงเซลล์โดยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเนื่องจากรูปทรงเส้นด้ายอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกมัน แต่กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนไม่อาจบอกความแตกต่างระหว่างฟิโลไวรัสชนิดต่าง ๆ ได้แม้ความยาวแตกต่างกันบ้าง
การป้องกัน
ไวรัสอีโบลาติดต่อ โดยส่วนใหญ่การป้องกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรม อุปกรณ์ป้องกันบุคคลทั่วกายที่เหมาะสมและการฆ่าเชื้อ เทคนิคเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อเกี่ยวกับการไม่สัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อ รวมทั้งเลือดและสารคัดหลั่งจากศพ ซึ่งจำต้องสงสัยและวินิจฉัยโรคโดยเร็วและใช้ความระมัดระวังมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยทุกคนในสถานสาธารณสุข มาตรการที่แนะนำเมื่อดูแลผู้ติดเชื้อรวมการแยกผู้ป่วย การทำไร้เชื้อซึ่งอุปกรณ์ และการสวมเสื้อผ้าป้องกัน ได้แก่ หน้ากาก ถุงมือ กาวน์และแว่นตา การล้างมือสำคัญแต่อาจลำบากในพื้นที่ซึ่งไม่มีแม้น้ำสำหรับดื่ม
สามารถกำจัดไวรัสอีโบลาได้ด้วยความร้อน (ให้ความร้อน 60 °C เป็นเวลา 30 ถึง 60 นาที หรือต้มเป็นเวลา 5 นาที) ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (สารฟอกจาง) หรือแคลเซียมไฮโปคลอไรต์ (ผงฟอกจาง) ที่ความเข้มข้นที่เหมาะสม
โรคระบาดขนาดใหญ่ส่วนมากเกิดในพื้นที่ยากจนทุรกันดารซึ่งไม่มีโรงพยาบาลสมัยใหม่หรือเจ้าหน้าที่แพทย์ที่มีการศึกษาดี เนื่องจากขาดอุปกรณ์และการปฏิบัติสุขลักษณะที่เหมาะสม พิธีกรรมฝังตามประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีที่ต้องฉีดดองศพ ควรถูกห้ามปรามหรือเปลี่ยนแปลง ลูกเรือสายการบินที่บินไปยังบริเวณระบาด ได้รับการสอนให้ระบุอีโบลาและแยกผู้ที่มีอาการ
วัคซีน
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับมนุษย์ วัคซีนขั้นทดลองที่มีหวังที่สุด คือ วัคซีนดีเอ็นเอ หรือวัคซีนที่มาจาก แอดิโนไวรัส (adenovirus), ไวรัสปากอักเสบตุ่มพองอินเดียนา(vesicular stomatitis Indiana virus, VSIV) หรืออนุภาคคล้าย filovirus เนื่องจากวัคซีนขั้นทดลองเหล่านี้สามารถป้องกันไพรเมตที่มิใช่มนุษย์จากโรคที่ไวรัสอีโบลาชักนำได้ วัคซีนดีเอ็นเอ วัคซีนยึดแอดิโนไวรัส และวัคซีนยึด VSIV เข้าสู่การทดลองทางคลินิกแล้ว
การรักษา
ไม่มีการรักษาที่จำเพาะต่ออีโบลาไวรัส สภาพการรักษาประคับประคองเป็นหลัก และรวมลดการดำเนินการที่รุกล้ำให้น้อยที่สุด รักษาสมดุลของเหลวและอิเล็กโทรไลต์เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ การให้สารกันเลือดเป็นลิ่มในการติดเชื้อโดยเร็วเพื่อป้องกันหรือควบคุมภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย การให้สารเร่งเลือดจับลิ่ม (procoagulant) ในการติดเชื้อระยะหลังเพื่อควบคุมเลือดไหล การรักษาระดับออกซิเจน การจัดการความปวด และการใช้ยารักษาโรคเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราทุติยภูมิ การรักษาแต่เนิ่นอาจเพิ่มโอกาสรอดชีวิต กำลังมีการศึกษาการรักษาเชิงทดลองจำนวนหนึ่ง
ที่มา: วิกิพีเดีย