หายกังวล รัฐแจงทำไมเก็บข้อมูลผู้ใช้ ‘ไทยชนะ’ 60 วัน
โฆษก ศบค. ชี้แจงการเก็บข้อมูลผู้เข้าใช้บริการแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” 60 วันเพื่อประโยชน์ในการติดตามผู้ติดเชื้อ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในระยะ 2 ปฏิบัติตามมาตรการหลัก 5 ข้อ
ไทยชนะ – ข่าวทำเนียบรัฐบาล รายงาน 20 พ.ค. 63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเชียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โฆษก ศบค. ชี้แจงข้อสงสัยการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ที่ต้องสแกน QR Code หลายรอบ เช่น เมื่อสแกน QR Code เช็คอินเข้าห้างสรรพสินค้าแล้ว ยังต้องสแกน QR Code เช็คอินเมื่อเข้าในร้านย่อย ๆ ภายในห้างสรรพสินค้าอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบติดตามค้นหาผู้ป่วย เนื่องจากห้างสรรพสินค้าสามารถจุคนได้จำนวนหลักหมื่น หากพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพียง 1 คน จะต้องทำการติดตามตรวจหาผู้ป่วยเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก หากทุกคนร่วมมือสแกน QR Code เมื่อเข้าร้านค้าขนาดย่อยภายในห้างสรรพสินค้า ก็จะสะดวกต่อการระบุพื้นที่เพื่อติดตามสืบสวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และสามารถระบุผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้น เมื่อจำกัดวงพื้นที่แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จึงไม่ต้องทำการตรวจหาเชื้อในวงกว้าง ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิต
โฆษก ศบค. ยังขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการ/กิจกรรมลงทะเบียนแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะจะทำให้ผู้ประกอบกิจการจะสามารถทราบได้ หากพบผู้ที่เข้ามาใช้บริการเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากข้อมูลการสแกน QR Code รวมทั้งดูแลความสะอาดภายในพื้นที่และป้องกันตนเองด้วย สำหรับการเก็บข้อมูลผู้เข้าใช้บริการแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ที่มีระยะเวลาในการเก็บข้อมูลถึง 60 วันนั้น เป็นการปฏิบัติตามประสบการณ์ที่พบในช่วงต้นของสถานการณ์ คือ ผู้ที่ติดเชื้อจากสนามมวย พบว่ามีการติดเชื้อจากรุ่นที่ 1 ไปยังรุ่น 2 – 4 จะใช้เวลาในการติดตามแต่ละรุ่นถึง 14 วัน รวมอยู่ที่ประมาณ 60 วัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการติดตามผู้เข้าใช้บริการแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เป็นระยะเวลา 60 วัน
โฆษก ศบค. ยังตอบคำถามกรณีมีข้อมูลระบุผู้ได้รับเชื้อโควิดมีเพียงร้อยละ 20 ที่แสดงอาการขณะที่ร้อยละ 80 อาจเป็นผู้ที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการหรืออาจไม่รู้ตัว ทำให้ข้อมูลประเทศไทยมีผู้ป่วยราว 3,000 คน เท่ากับว่าในประเทศไทยอาจจะมีผู้ติดเชื้อโควิดแต่ไม่รู้ตัวราว 12,000 รายหรือไม่นั้น โดยชี้แจงว่า ตัวเลขไม่ได้เทียบจากบัญญัติไตรยางค์แต่ต้องใช้ปัจจัยในการคิดคำนวณหลายขั้นตอน เพราะจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อประมาณ 3,000 รายนั้น ส่วนหนึ่งรักษาหายแล้วและผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ไม่แสดงอาการในกลุ่มดังกล่าวน่าจะหายเช่นเดียวกัน เนื่องจากระยะเวลาของการฟักตัวอยู่ที่ 14 วัน สำหรับตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการจะต้องสอบถามไปยังนักระบาดวิทยาและภาคคลินิก ขอให้เชื่อตัวเลขจากทางกระทรวงสาธารณสุขที่รายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่องเท่านั้น
โฆษก ศบค. ยังชี้แจงกรณีผู้ประกอบการหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการคลายล็อกในระยะ 2 นี้ว่า ศบค. ได้หารือในรายละเอียดการแบ่งระยะต่างๆ มีชุดของข้อมูลที่เป็นพื้นฐานเพื่อใช้ในการตัดสินใจสิ้น ทั้งนี้ ต้องขอให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปรากฏในระยะ 2 ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการหลัก รวมถึงเตรียมความพร้อมสถานที่ประกอบการของตนเองด้วยมาตรการหลักทั้ง 5 ข้อ หากพบว่าจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อคงที่ เชื่อว่ากิจการต่างๆ ที่แม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าทุกคนมีวินัย ดูแลตนเองและส่วนรวม จะทำให้มีโอกาสในการเปิดให้บริการได้ตามปกติในรูปแบบของชีวิตวิถีใหม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับไทยชนะ
- ยืนยัน เว็บไทยชนะ ปลอดภัย หลังคนหวั่นเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว
- ไทยชนะ ตอบทุกคำถามที่ผู้ประกอบการและลูกค้าสงสัย
- ไทยชนะ.com ไม่ถึง 6 ชม. ลงทะเบียน 2.6 หมื่นร้าน ปชช.เช็กอินคึกคัก
- โฆษก ศบค. ยืนยัน ‘ไทยชนะ’ เป็นช่องทางเพื่อผู้ประกอบกิจการ
- โฆษกศบค.ยืนยัน ไทยชนะ ไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล